รีเซต

โควิด-19 ลูกผสมครองไทย 86.8% “เยื่อบุตาอักเสบ-ตาแดง” อาการนำติดเชื้อ

โควิด-19 ลูกผสมครองไทย 86.8% “เยื่อบุตาอักเสบ-ตาแดง” อาการนำติดเชื้อ
TNN ช่อง16
10 พฤษภาคม 2566 ( 09:14 )
128

วันนี้ (10 พ.ค. 66 )นายแพทย์ ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย ว่า สองสัปดาห์ก่อนองค์การอนามัยโลก (WHO) ปรับชนิดสายพันธุ์ที่ติดตามใกล้ชิด โดยเพิ่ม XBB.1.16  เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง ร่วมกับ XBB.1.5  และปรับเพิ่ม XBB.1.9.2 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามองเป็นตัวที่ 7


สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ของไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-7 พ.ค.) มีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิด 372 คน พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 323 คน คิดเป็น ร้อยละ  โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ สัดส่วนในสัปดาห์นี้ พบสายพันธุ์ลูกผสมมากกว่า ร้อยละ 74 ในทุกเขตสุขภาพ ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 5 ที่มีตัวอย่างส่งตรวจน้อย พบมากที่สุดเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 คิดเป็น ร้อยละ 27.7 รองลงมาคือ XBB.1.5 คิดเป็น ร้อยละ 22 ขณะที่ BN.1 ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 มีสัดส่วนลดลง


ส่วนกรณีองค์การอนามัยโลก ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกของโควิดที่ใช้มานานกว่า 3 ปี หลังพบตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงและผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ย้ำว่ายังคงเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสถานการณ์สาธารณสุขโลกต่อไป รวมทั้งไทยเองยังคงมีมาตรการรับมือโควิดเช่นเดิม การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ 


ทั้งนี้ ขอให้โรงพยาบาลทั่วประเทศส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งชาวไทยและต่างชาติมาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น


นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โควิด-19 จะมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องและไวรัสสายพันธุ์ XBB.1.16 ก็เป็นการผสมกันเองระหว่างโอมิครอนเพื่อต่อต้านภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่มี ทั้งวัคซีนและภูมิคุ้มกันธรรมชาติ อาการจะหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยขอแนะนำให้สังเกตอาการของตนเองว่าหากมีไข้สูง ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ ลักษณะคล้ายตาแดง มีผื่นคัน ขอแนะนำให้แยกกักตัวเองก่อนอันดับแรก และควรไปพบแพทย์เพื่อคัดกรองโรคโควิด-19 เพื่อทำการรักษาให้หาย เพราะโควิดขณะนี้สามารถติดต่อง่ายขึ้น และยังหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี ไม่ว่าจะจากการฉีดวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ซึ่งถ้าหากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบากให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาในโรงพยาบาล


ส่วนอาการตาแดงที่พบในโควิด-19 นั้นเข้าข่ายติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 โดยอาการตาแดงจากโควิด-19 ไม่ใช่อาการใหม่ หากแต่พบมากขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาการตาแดงเป็นอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโควิด-19 อาจจะเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ หรือไม่ก็ได้ และเกิดตามหลังหรือเกิดก่อนอาการอื่นๆ ก็ได้


ซึ่งการแยกอาการแพ้และการติดโควิด-19  หากมีอาการตาแดง (มักเป็นสองข้าง) มีน้ำตา และคัน นี่คืออาการของตาแดงที่เกิดจากภูมิแพ้  หากมีอาการตาแดง (ข้างเดียวหรือสองข้าง) ไม่มีน้ำตาหรือมีเล็กน้อย มีขี้ตา ไม่คัน มีไข้ หรืออาการจากระบบทางเดินหายใจอื่นๆ นี่อาจจะเป็นอาการของตาแดงจากการติดโควิด-19 


ข้อมูลจาก  : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ภาพจาก :  AFP 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง