รีเซต

หมูเขียงอาจทะลุ 200 บาท ฟาร์มหมู เดินหน้าขยับราคาอีก 2 บาท โอดแบกต้นทุนไม่ไหว

หมูเขียงอาจทะลุ 200 บาท ฟาร์มหมู เดินหน้าขยับราคาอีก 2 บาท โอดแบกต้นทุนไม่ไหว
มติชน
10 พฤศจิกายน 2564 ( 19:20 )
70
หมูเขียงอาจทะลุ 200 บาท ฟาร์มหมู เดินหน้าขยับราคาอีก 2 บาท โอดแบกต้นทุนไม่ไหว

ข่าววันนี้ แหล่งข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกร กล่าวว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ 10 พฤศจิกายน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมด่วนเพื่อแก้ปัญหาข้าวถูกและหมูแพง กับสมาคมและบริษัทรายใหญ่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงสี ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสุกร เป็นต้น พร้อมกับกรมการค้าภายใน ซึ่งแต่ละส่วนได้สะท้อนสถานการณ์ด้านราคา และแนวทางแก้ปัญหาเพื่อดันราคาข้าว พร้อม ตรึงราคาสุกร หลังจากที่เกษตรกรและประชาชนร้องทุกข์ต่อรัฐบาล โดยที่ประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป กระทรวงพาณิชย์จึงขอให้แต่ละส่วนไปหารือและจัดทำแผนมานำเสนอและหาทางออกกันอีกครั้งในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้

 

“ในส่วนของผู้เลี้ยงสุกร เรายืนยันเรื่องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จนถึง 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตขณะนี้อยู่ที่ไม่เกิน 82 บาทต่อกิโลกรัม และเตรียมปรับราคาอีก 2 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 84 บาท ในวันพระหน้า หรือวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ เพราะแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น ทั้งอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นกว่า 30% ราคาน้ำมันและแรงงาน อีกทั้งปริมาณสุกรบางพื้นที่ลดลงจากภาวะอากาศ โดยผู้เลี้ยงสุกรได้เสนอซื้อข้าวเปลือกจากโรงสีแล้วนำมาสีแปรเป็นข้าวกล้องเพื่อผสมเป็นอาหารเลี้ยงสุกรเอง ในราคาที่เหมาะสม”

 

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกร กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสุกร ต้องช่วยเหลือตนเองที่จะลดภาระต้นทุนและพยุงราคามาตลอด บางส่วนเสียหายจากช่วงโควิดก็สูง และยื่นขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร จึงทำให้บางพื้นที่ต้องจำหน่ายสุกรและหมูชำแหละในราคาสูง และบางพื้นที่เจอต้นทุนขนส่ง เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ก็ทำให้ราคาสูงกว่าภาคอื่นด้วย แม้การปรับราคาสุกรมีชีวิตอีก 2 บาท ไปอยู่ที่ 84 บาท แต่ในตลาดที่มีการแข่งขันก็ยังมีการขายในราคา 79-81 บาท หากเป็นเนื้อหมูชำแหละตามสูตรก็จะคูณสอง เฉลี่ยหมูชำแหละก็ไม่ควรเกิน 160-180 บาทต่อกิโลกรัม ที่มีการขายราคา 200 บาทหรือเกิน 200 บาท ก็อยู่ที่กรมการค้าภายในจะต้องไปตรวจสอบและดำเนินการว่าขายเกินราคาเป็นจริงหรือไม่

 

“เชื่อว่าเมื่อสุกรเป็นต้องขยับอีก ราคาบางพื้นที่เกิน 200 บาทก็เป็นได้ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ แต่เป็นเรื่องที่รัฐต้องไปดูกลางน้ำ พ่อค้าชำแหละ พ่อค้าคนกลาง ว่าขยับราคาได้ตรงต้นทุนหรือขายเกินจริง จะมีโทษผู้เลี้ยงสุกรหรือเอาผิดกับเราก็ไม่ถูก เพราะผู้เลี้ยงเจอต้นทุนสูงมาตลอด และไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร ซึ่งการทำหมูธงฟ้า ก็เชื่อว่าเป็นทางออกที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์จะนำมาใช้อีก ผู้เลี้ยงสุกรย่อมให้ความร่วมมือหากมีการขอมาจากรัฐบาล แต่ก็เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ไม่ได้ยั่งยืน” แหล่งข่าวสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ระบุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง