รีเซต

เร่งตัด “หมูเถื่อน” ก่อนเกษตรกรตาย อุตสาหกรรมหมูไทยไปไม่รอด

เร่งตัด “หมูเถื่อน” ก่อนเกษตรกรตาย อุตสาหกรรมหมูไทยไปไม่รอด
TNN ช่อง16
27 พฤศจิกายน 2565 ( 10:36 )
75

11 มกราคม 2565 เป็นวันที่กรมปศุสัตว์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าพบโรคระบาดในสุกร ASF (African Swine Fever) ที่โรงชำแหละหมูในจังหวัดนครปฐม นับเป็นการยอมรับโดยดุษฎีกับคนไทยเป็นครั้งแรกว่าเราประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคนี้จริง ทั้งที่ผ่านมาภาครัฐยืนยันหนักมาเป็นแรมปีว่าโรคนี้ “ไม่มี ไม่พบ จบนะ” แต่เรื่องไม่จบอย่างที่คิด เพราะผลกระทบที่เกิดตามมาเป็นความเสียหายกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร สุขอนามัยที่ดีของคนไทย และเศรษฐกิจของประเทศ


การประกาศพบโรคระบาดดังกล่าว ส่งสัญญาณเตือนให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ต้องยกระดับการเฝ้าระวังสัตว์ในฟาร์มและมาตรการป้องกันโรคขึ้นสู่ระดับสูงสุด เพื่อลดการสูญเสียและภาวะขาดทุน ซึ่งปกติผู้เลี้ยงหมูต้องเผชิญกับวัฏจักรหมู หรือ วงจรราคาหมู (Hog Cycle) คือ เสีย 3 ปี ดี 1 ปี มาโดยตลอด กล่าวคือเมื่อผลผลิตราคาดี เกษตรกรก็จะแห่เลี้ยงกันจนผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ จึงค่อยๆลดการเลี้ยงลงไปเรื่อยๆ ราคาไม่ดีเป็นเวลา 3 ปี ผลผลิตก็จะออกสู่ตลาดน้อยมาก  กลไกตลาดทำงานราคากลับมาสูงขึ้น ก็จะกลับมาเลี้ยงกันใหม่อีก วนเวียนไป ซึ่งเป็นวัฏจักรที่เกษตรกรยังรอด แต่โรคระบาด ASF “เป็นการตายยกฟาร์ม” เพราะต้องทำลายสัตว์ทั้งที่ติดโรคและไม่ติดโรคที่อยู่ในฟาร์มทั้งหมด อีกทั้งโรคระบาดครั้งนี้ยังเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรให้ขาดทุนเพิ่มขึ้น 


ช่วงเวลาดังกล่าว นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รวมพลังกับสมาคมผู้เลี้ยงทั่วประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ให้รายละเอียดว่า โรค ASF ทำให้แม่สุกรหายไปจากวงจร 50% จาก 1,100,000 ตัว เหลือ 500,000 ตัว ขณะที่ลูกสุกรจาก 28 ล้านตัว เหลือ 12-13 ล้านตัว การผลิตสุกรขุนก็ลดลงในทิศทางเดียวกัน และการฟื้นฟูผลผลิตให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี พร้อมเสนอแนะว่าภาครัฐไม่ควรนำเข้าสุกรจากต่างประเทศมาทดแทนส่วนที่ขาด หากนำเข้ามาต้องเปิดเผยจำนวน เพื่อปกป้องเกษตรกรและผู้บริโภค



บนความทุกข์ของผู้เลี้ยงหมูไทย กลายเป็นโอกาสของ “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้า เพราะเห็นช่องทางทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ จากราคาเนื้อหมูในประเทศที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับขึ้นสูงมากกว่า 110 บาทต่อกิโลกรัม (ช่วงต้นปี) ส่งผลให้หมูเนื้อแดงปรับขึ้นสูงสุดมากกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่หมูเถื่อนเสนอราคาเพียงกิโลกรัมละ 135-140 บาท หมูเถื่อนจึงทยอยเข้าไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นมา ขณะที่ภาครัฐกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ ตรวจจับแบบขอไปที ร่วมกันทำงานจากมกราคม-สิงหาคม จับกุมได้ 5 ครั้ง ปริมาณ 115.45 ตัน (ประสิทธิภาพต่ำมาก) 


30 สิงหาคม 2565 เป็นอีกครั้งที่ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศสุดจะทน จับมือกันแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐเร่งปราบปรามหมูเถื่อนก่อนเกษตรกรวายวอด เพราะหมูเถื่อนทำให้โรงแปรรูปหมชะลอการซื้อหมูจากเกษตรกร หมูเกษตรกรต้องยืนฟาร์มต่อไปอีกแม้จะได้เวลาจับแล้วก็ตาม แปลว่าต้นทุนเลี้ยงก็จะสูงขึ้นไปอีก แบกรับภาระไม่ไหวก็ต้องเลิกกิจการ



ในครั้งนี้ นายสุรชัย กล่าวว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไม่ได้ปกป้องแค่ผู้เลี้ยง แต่ยังปกป้องพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปลายข้าว ประมาณ 7 ล้านครัวเรือน รวมไปถึงเป็นห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องอีกหลายธุรกิจ เช่น เวชภัณฑ์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การเลี้ยง เป็นต้น ไม่ให้ได้รับผลกระทบหากภาคผู้เลี้ยงสุกรต้องล่มสลายไป พร้อมชี้เป้า “ท่าเรือแหลมฉบัง” คือช่องทางหลักที่หมูเถื่อนเข้าประเทศไทย ขอให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐปราบปรามอย่างจริงจัง


เป็นที่น่าสังเกตว่า การปราบปรามหมูเถื่อนเพิ่มความถี่ขึ้นช่วงปลายเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2565 (หลังฤดูกาลโยกย้าย-แต่งตั้งข้าราชการสิ้นสุด) เมื่อคนเก่าไปคนใหม่มา นอกจากจะเห็นข่าวจับกุมหมูเถื่อนออกสื่อฯ นับสิบครั้ง ล้วนเป็นฝีมือการนำทีมของกรมปศุสัตว์เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะล่าสุดจับล็อตใหญ่ที่ห้องเย็นสมุทรสาครได้ของกลางมากกว่า 400,000 กิโลกรัม ก็นับว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ด้านกรมศุลกากร ต้องออกแรงทำงานง่ายๆ ให้โปรงใสมากขึ้นเพียงแค่ “ตัดตอน” หมูเถื่อนให้หมดที่ท่าเรือฯ ก็จะมีเวลาเหลือไปพัฒนาทำงานใหญ่ได้มากขึ้น 



เห็นได้ว่า “หมูเถื่อน” สร้างผลกระทบต่อเนื่อง (Domino Effect) กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารของไทย ในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารชั้นและ “ครัวของโลก” จะต้องเปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้นำเข้าอาหารแทน ที่สำคัญคนไทยมีความเสี่ยงกับการบริโภคที่ไม่ผ่านการตรวจสอบสารตกค้างและเชื้อโรคที่ติดมากับเนื้อสัตว์ลักลอบนำเข้ามากขึ้น...จึงจำเป็นต้อง ตัดหมูเถื่อน ก่อนเกษตรกรตาย และเศรษฐกิจไทยวายวอด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง