รีเซต

ย้อนรอยภารกิจยาน Pioneer 11 สำรวจดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์และสำรวจอวกาศ

ย้อนรอยภารกิจยาน Pioneer 11 สำรวจดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์และสำรวจอวกาศ
TNN ช่อง16
9 เมษายน 2565 ( 15:51 )
170

6 เมษายน 1973 ยาน Pioneer 11 เดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวด Atlas Centau จากฐานปล่อยจรวด LC-36B แหลมคะแนเวอรัล ยานมีภารกิจสำคัญในการศึกษาแถบดาวเคราะห์น้อย การเดินทางผ่านดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ การทำความเข้าใจลมสุริยะ ยาน Pioneer 11 มียานพี่สาวฝาแฝดอีกลำชื่อว่า Pioneer 10 ออกเดินทางจากโลกไปก่อนหน้าประมาณ 1 ปี


ยาน Pioneer 11 เดินทางไปพร้อมอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยมากที่สุดในยุคนั้น เช่น กล้องถ่ายภาพแบบโฟโตโพลาริมิเตอร์ เครื่องวัดรังสี เครื่องวิเคราะห์พลาสมา เครื่องวัดแสงอัลตราไวโอเลต กล้องโทรทรรศน์รังสีคอสมิก (CRT) เครื่องตรวจจับอุกกาบาต (AMD)


การเดินทางของยาน Pioneer 11 ยานสามารถเดินทางด้วยความเร็วสูงหลังจากเดินทางจากโลกยานใช้เวลาเพียง 11 ชั่วโมง ก็สามารถเดินทางผ่านดวงจันทร์ ในเดือนมีนาคม 1974 ยานเดินทางผ่านแถบดาวเคราะห์น้อย


วันที่ 3 ธันวาคม 1974 ยานเดินทางผ่านดาวพฤหัสบดีและสามารถถ่ายภาพระยะใกล้ของดาวพฤหัสบดีจากระยะ 43,000 กิโลเมตร ยานสามารถถ่ายภาพจุดแดงบนดาวพฤหัสบดีและเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นภาพดาวพฤหัสบดีในระยะใกล้มากที่สุด วันที่ 1 กันยายน 1979 ยานเดินทางผ่านดาวเสาร์ ยานโคจรเข้าใกล้ดาวเสาร์ในระยะ 21,000 กิโลเมตร เพื่อบันทึกภาพและเก็บข้อมูลดาวเสาร์


วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1990 ยานเดินทางผ่านดาวเนปจูน และในวันที่ 30 กันยายน 1995 ศูนย์วิจัยอาเมสของนาซาติดต่อกับยาน Pioneer 11 เป็นครั้งสุดท้ายก่อนสัญญาณจะขาดหายไป อย่างไรก็ตามในวันที่ 24 พฤศจิกายน 1995 นาซาได้รับสัญญาณจากยาน Pioneer 11 อีกครั้งก่อนสัญญาณขาดหายไป ปิดฉากภารกิจเกือบ 22 ปี ของยาน Pioneer 11 หนึ่งในภารกิจอวกาศที่ยาวนานมากที่สุดครั้งหนึ่งของนาซา


ปัจจุบันยาน Pioneer 11 ยังคงเดินทางต่อไปตามเส้นทางออกนอกระบบสุริยะของพวกเรา นักวิทยาศาสตร์คำนวณไว้ว่ายานจะเดินทางถึงบริเวณกลุ่มดาว Lambda Aquila ในอีก 4 ล้านปี ข้างหน้า ยานได้บรรทุกแผ่นโลหะบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับโลกและอารยธรรมของมนุษย์


โดยนาซาได้ทำงานร่วมกับคาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักดาราศาสตร์ชื่อดังและผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเคราะห์ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล เผื่อวันหนึ่งอาจมีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในดินแดนอันไกลโพ้นสามารถเก็บกู้ยาน Pioneer 11 ขึ้นมาได้และนั่นอาจเป็นหลักฐานเดียวของการเคยดำรงอยู่ของอารยธรรมของมนุษย์ สำหรับยาน Voyager 1 และยาน Voyager 2 นั้นนาซาเลือกใช้แผ่นทองคำเนื่องจากเก็บข้อมูลได้เยอะกว่าและมีความแข็งแรงทนทานมากกว่า


วันที่ 5 พฤศจิกายน 2017 นาซาระบุว่ายาน Pioneer 11 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 97.590 AU หรือ 9.1 พันล้านไมล์หรือ 14,599 พันล้านกิโลเมตร


ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ solarsystem.nasa.gov 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง