รีเซต

วิจัยในอังกฤษชี้วัคซีนไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพต้านโควิดสายพันธุ์อินเดีย

วิจัยในอังกฤษชี้วัคซีนไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพต้านโควิดสายพันธุ์อินเดีย
ข่าวสด
23 พฤษภาคม 2564 ( 14:46 )
51
วิจัยในอังกฤษชี้วัคซีนไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพต้านโควิดสายพันธุ์อินเดีย

 

สาธารณสุขของอังกฤษ เผยผลการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า ว่ามีประสิทธิภาพสูงในการต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์จากอินเดีย หลังจากได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ไปแล้ว

 

 

ไวรัสสายพันธุ์อินเดียที่ศึกษาวิจัยเป็นสายพันธุ์ B.1.617.2 พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ซึ่งสายพันธุ์นี้ เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อครังแรกในแคมป์คนงานเขตหลักสี่ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา

 

 

การฉีดวัคซีนทั้งสองยี่ห้อครบจำนวน 2 โดส มีระดับการป้องกันต่อการป่วยแบบมีอาการจากโควิดสายพันธุ์อินเดีย เทียบเท่ากับการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เคนต์ หรือ B.1.1.7 จากสหราชอาณาจักร

 

อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบว่า วัคซีนทั้งสองยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสสายพันธุ์อินเดีย 33% ภายหลังจากรับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว 3 สัปดาห์ แต่มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสสายพันธุ์เคนต์ของอังกฤษสูงถึง 50%

 

 

กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ระบุว่าวัคซีนทั้งไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า มีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยในขั้นที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมไปถึงป้องกันการเสียชีวิต

 

 

แมตต์ แฮนคุก ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผลการศึกษานี้ทำให้เพิ่มความมั่นใจแก่เขาว่า รัฐบาลกำลังเดินมาถูกทางในการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในอังกฤษ ในวันที่ 21 มิ.ย. ที่จะถึงนี้

 

 

เขาระบุว่าข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า วัคซีนสองโดสทำให้มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสสายพันธุ์อินเดียเท่ากันกับสายพันธุ์อังกฤษ และชี้ว่าการฉีดให้ครบสองโดสเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

 

 

ผลการศึกษาของสาธารณสุขอังกฤษ ชี้ถึงประสิทธิภาพของวัคซีนสองยี่ห้อดังนี้

  • ไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพ 88% ในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากไวรัสสายพันธุ์อินเดีย หลังจากได้วัคซีน 2 โดส ไปแล้วสองสัปดาห์ ขณะที่ป้องกันไวรัสสายพันธุ์เคนต์ได้ 93%
  • แอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพ 60% ในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากไวรัสสายพันธุ์อินเดีย ขณะที่ป้องกันไวรัสสายพันธุ์เคนต์ได้ 66%

 

 

กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษบอกด้วยว่า ประสิทธิภาพที่ไม่เท่ากันของวัคซีนสองยี่ห้อง ภายหลังจากฉีดไปแล้วสองโดส อาจอธิบายได้ว่า การฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนก้าเข็มที่สองนั้น ช้ากว่าวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ก่อน

 

 

หน่วยงาน สธ.ของอังกฤษ ระบุด้วยว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยใช้เวลานานกว่า

 

 

การวิจัยประสิทธิภาพวัคซีน ได้ศึกษาในคนจำนวน 12,675 ราย ที่มีการตรวจรหัสพันธุกรรมจีโนมแล้วทุกกลุ่มอายุ โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่สายพันธุ์อินเดียเข้ามาระบาดในอังกฤษ และผลการศึกษาสิ้นสุดในวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ติดเชื้อที่เป็นไวรัสสายพันธุ์อินเดีย (สายพันธุ์ B.1.617.2.) 1,054 ราย

 

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษบอกว่า ข้อมูลนี้ยังไม่เพียงพอต่อการวัดประสิทธิภาพการป้องกันการป่วยหนักจากสายพันธุ์อินเดีย

 

 

อังกฤษฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 50 ล้านโดส ในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วกว่า 30 ล้านคน และได้รับวัคซีนครบโดสที่สองกว่า 18 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง