รีเซต

แอสตร้าฯยันวัคซีนประสิทธิภาพป้องกันโควิดเทียบเท่า mRNA

แอสตร้าฯยันวัคซีนประสิทธิภาพป้องกันโควิดเทียบเท่า mRNA
TNN ช่อง16
27 เมษายน 2565 ( 13:30 )
103

วันนี้(27 เม.ย. 65)บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยจากรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลฉบับใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญจากงานวิจัยที่มาจากกรณีศึกษากว่า 79 เรื่อง เผยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก ต่างให้ประสิทธิผลที่เท่ากันในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หลังการให้วัคซีน 2 เข็ม

รายงานฉบับดังกล่าว แสดงข้อมูลอย่างชัดเจนว่า ทั้งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ (Viral Vector) และวัคซีนชนิด mRNA ต่างให้ประสิทธิผลในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (อยู่ที่ระหว่าง 91.3-92.5%) และการเสียชีวิต (อยู่ที่ระหว่าง 91.4-93.3%) ในระดับเดียวกัน โดยไม่มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยในทุกช่วงอายุ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อมูลในขณะที่ทำรายงานการวิเคราะห์ฉบับนี้ จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ข้อมูลจากการระบาดระลอกใหม่ ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงผลที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป้องกันอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ด้านศาสตราจารย์กาย ทเวทส์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยทางคลินิกของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในเวียดนาม เปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีความสำคัญต่อการช่วยชีวิต และช่วยให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญแสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต่างให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ในระดับสูง ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับภาครัฐ และผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคนี้ เพื่อพิจารณานำวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปใช้กับประชาชนอย่างเหมาะสมที่สุดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

ด้าน พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการศึกษาเรื่องวัคซีน ควรพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ใช่เพียงแค่ระดับการตอบสนองของแอนติบอดีเบื้องต้น หรือมองในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังต้องดูประสิทธิผลของวัคซีนจากกรณีศึกษาจริง เพื่อพิสูจน์ว่าวัคซีนที่ใช้นั้นได้ผล โดยสามารถการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้อย่างดี 

พญ.สุเนตร กล่าวต่อว่า ได้ศึกษางานวิจัยกว่า 79 เรื่อง ที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้วัคซีนจริง และพบว่าวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ และวัคซีน mRNA ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย ล้วนมีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ในระดับสูง ไม่แตกต่างกันทั้งในเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็มบูสเตอร์

"ทุกคนให้ความสนใจเรื่องแอนติบอดี้ เนื่องจากสามารถประเมินได้ง่ายกว่า แต่การศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนต้องใช้ระยะเวลา ทั้งนี้ ในการวางแผนฉีดวัคซีนจะดูข้อมูลจากการใช้จริงมากกว่า ในส่วนของประเทศไทย ยังมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 อยู่แค่ 40% ซึ่งก็ได้มีการผลักดัน รณรงค์ให้ฉีดวัคซีนมากขึ้น แต่ประชาชนยังมารับวัคซีนจำนวนน้อย ดังนั้น การเผยแพร่ข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนที่ถูกต้อง จึงมีความสำคัญมากในการต่อสู้กับโรคระบาดในปัจจุบัน" พญ.สุเนตร กล่าว 

ด้าน ดร.รอนจีน โซลันเต้ วิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งฟิลิปปินส์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า วัคซีนที่ใช้จำนวนมาก คือชนิดไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA จึงทำการศึกษาเปรียบเทียบทั้ง 2 ชนิด ซึ่งพบว่าสามารถปกป้องประชาชนจากสายพันธุ์โอมิครอนในการป่วยหนักและเสียชีวิตได้เท่าๆ กัน โดยเฉพาะมีประสิทธิผลดีในการป้องกันกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ 

ขณะเดียวกัน พบว่า สามารถสร้างแอนติบอดี้ได้ดี อย่างไรก็ดี การที่แอนติบอดี้พุ่งขึ้นสูงในช่วงแรกหลังจากฉีดวัคซีนนั้น ไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ ต้องให้ความสำคัญในประเด็นว่า วัคซีนยังสามารถปกป้องประชาชนได้ต่อเนื่อง ดังนั้นการประเมินประสิทธิผลของวัคซีน จึงไม่ควรนำแอนติบอดี้มาใช้เป็นมาตรวัดหลัก 

"แอนติบอดี้สูง-ต่ำไม่สำคัญ สำคัญที่หากมีการติดเชื้อแล้วไม่ป่วยหนักดีกว่า ในส่วนของอัตราการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ของประเทศฟิลิปปินส์ ยังมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชนในประเทศมาก ซึ่งการฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียงบ้าง แต่เมื่อเทียบกับประสิทธิผลนั้น ถือว่าดีกว่ามาก" ดร.รอนจีน กล่าว

ด้าน ดร.บรูซ มุนกอลล์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ประจำภูมิภาคเอเชีย วัคซีนและโรคติดเชื้อ แอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน การฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม จึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิตอีกต่อไป เนื่องจากความสามารถในการป้องกันจะลดลงเมื่อระยะเวลาผ่านไป 6 เดือน ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใดก็ตาม เนื่องจากสามารถป้องกันได้ในระดับที่เท่าๆ กัน

 "จากการศึกษาการนำวัคซีนแอสตร้ามาเป็นเข็มบูสเตอร์ พบว่า ประสิทธิผลในการป้องกันในระยะยาว มีความใกล้เคียงกับวัคซีนชนิด mRNA" ดร.บรูซ กล่าว

อนึ่ง แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรทั่วโลก ได้ส่งมอบวัคซีนมากกว่า 2.9 พันล้านโดส ให้แก่กว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนดังกล่าว ได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 กว่า 50 ล้านราย ป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 5 ล้านราย และได้ช่วยปกป้องชีวิตผู้คนกว่า 1 ล้านชีวิต จากโรคโควิด-19

ภาพจาก : AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง