รีเซต

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (21 มิ.ย. 2565)

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (21 มิ.ย. 2565)
Ingonn
22 มิถุนายน 2565 ( 14:28 )
710
เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (21 มิ.ย. 2565)

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุดจีนเรียกร้องประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกคว่ำบาตรต่อซีเรีย เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจของซีเรีย หลังเผชิญสงครามมาหลายปี อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (20 มิ.ย. 2565)

 

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (21 มิ.ย. 2565)

ยูเครนจะเป็นสมาชิกอียูแน่นอน สหภาพยุโรปชี้ ไม่มีชาติใดคัดค้าน พร้อมเร่งกระบวนการสู่สมาชิกให้เร็วขึ้น

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยูเครนได้รับ 'สถานะผู้สมัครสมาชิกสหภาพยุโรป' หลังผู้นำ 3 ประเทศสำคัญเดินทางเยือนกรุงเคียฟและให้การสนับสนุน และนำเรื่องเข้าที่ประชุม ก็มีความคืบหน้าออกมาแล้ว 


โดยจากการให้สัมภาษณ์สื่อของผู้แทนแต่ละประเทศ ระบุว่า ไม่มีชาติใดคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกอียูของยูเครน  

 

ยูเครนจะเป็นสมาชิกอียูแน่

พรุ่งนี้ (23 มิถุนายน) จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำของสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลล์ ของเบลเยียม คาดว่ายูเครนจะได้รับการลงนามอนุมัติสถานะผู้สมัครสมาชิกของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ด้วย 


ฌ็อง อาสเซลบอร์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของลักเซมเบิร์ก ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า อียูรอวันที่จะประกาศข่าวดีนี้ถึงประธานาธิบดี ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ ของรัสเซียแล้วว่า ยูเครนจะได้เป็นสมาชิกใหม่ของเราอย่างเป็นทางการ และจะปกป้องยูเครนอย่างที่พวกเราปกป้องตนเองด้วย 


จากการประชุมอย่างต่อเนื่อง ไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวที่คัดค้านมตินี้ และเราจะแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้รัสเซียเห็น
ด้าน คลิเมนต์ โบเน เลขาธิการแห่งรัฐด้านกิจการยุโรปฝรั่งเศส ระบุว่า ความเห็นพ้องต้องกันของอียูในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก และคาดว่ายูเครนจะได้เป็นสมาชิกอียูโดยเร็วที่สุดด้วย 

 

มอลโดวาจะได้สถานะเช่นกัน

ผู้แทนของ 3 ประเทศให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Reuters ว่า ‘มอลโดวา’ ก็กำลังจะได้สถานะผู้สมัครสมาชิกอียูเช่นกัน แต่สำหรับ ‘จอร์เจีย’ ยังคงขาดคุณสมบัติ เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาอันควรในการเริ่มกระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ เพราะขัดต่อค่านิยมพื้นฐานของสหภาพยุโรปในด้านประชาธิปไตย


สหภาพยุโรปจะกำหนดให้ยูเครนและมอลโดวาปฏิบัติตามการปฏิรูปด้านตุลาการ และแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น รวมถึงปัญหาด้านอื่น ๆ ก่อน ก่อนที่จะเปิดการเจรจารับเป็นสมาชิกอียูอย่างเป็นทางการ

 

คว่ำบาตรรัสเซียจนกว่าจะถอนทหาร

เมื่อถามถึงการคว่ำบาตรเพิ่มเติมของอียูต่อรัสเซีย เหล่าผู้นำของชาติสมาชิกอียูก็ตั้งใจว่าจะคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มด้วย โดยจะหารือกันในที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ (23 มิถุนายน) ซึ่งคาดว่าอาจคว่ำบาตรยาวไปเรื่อย ๆ จนกว่ารัสเซียจะถอนกำลังทั้งหมดออกจากยูเครน
นอกจากนี้ ลิซ ทรูส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชของสหราชอาณาจักร ก็บอกด้วยว่า ตั้งใจจะส่งอาวุธให้ยูเครนเพิ่มเติม และจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติมเช่นกัน 


ด้านประธานาธิบดี ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ ของรัสเซีย ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นที่ยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกอียู พร้อมบอกว่า ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนนี้เป็นส่ิงจำเป็น เพื่อป้องกันการบุกรุกของชาติตะวันตก


ต้องมาติดตามกันต่อไปว่า หลังจากวันพรุ่งนี้ที่อียูจะประชุมสุดยอดผู้นำ จะมีการเซ็นอนุมัติให้ยูเครนเป็นมาชิกอย่างเป็นทางการเลยหรือไม่ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป 

 

ข้อมูล TNN World

 

รัสเซียขู่จะตอบโต้ลิทัวเนีย หากปิดเส้นทางขนส่งไปยังคาลินินกราด ตามมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ของอียู

รัสเซียขู่จะลงโทษลิทัวเนียด้วยมาตรการที่จะ “ส่งผลกระทบทางลบรุนแรง” กรณีการปิดเส้นทางการขนส่งทางรถไฟ ไปยังแคว้นคาลินินกราด ซึ่งเป็นดินแดนส่วนแยกในทะเลบอลติกของรัสเซีย ผ่านประเทศลิทัวเนีย ซึ่งเป็นสมาชิกอียู ถือเป็นความขัดแย้งล่าสุดจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย กรณีใช้ปฏิบัติการทางทหารในยูเครน 


รัสเซียเชิญผู้แทนสหภาพยุโรป หรืออียู ประจำกรุงมอสโก เพื่อขอคัดค้าน “อย่างยิ่ง” ต่อการประกาศใช้ข้อจำกัดชุดใหม่ ต่อการขนส่งสินค้าไปยังแคว้นคาลินินกราดผ่านประเทศลิทัวเนีย พร้อมขู่ว่า มอสโกอาจจะทำการ “ตอบโต้” ต่อประเทศภูมิภาคบอลติกนี้ด้วย


กระทรวงการต่างประเทศมอสโกเปิดเผยในวันอังคาร (21 มิถุนายน) ว่า เอกอัครราชทูตอียูประจำมอสโก มาร์คุส เอเดเรอร์ ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ “การกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้” และเตือนว่า “จะมีการตอบโต้ตามมา” หากไม่มีการยกเลิกข้อจำกัดทั้งหลายไปในทันที โดยไม่ได้มีการให้รายละเอียดใด ๆ


ทั้งนี้ แคว้นคาลินินกราด เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ตั้งอยู่ระหว่างลิทัวเนียและโปแลนด์ ซึ่งมีแม้น้ำเปรโกลยา ไหลผ่านเข้าสู่ทะเลบอลติก โดยพื้นที่นี้มีประชากรผู้อยู่อาศัยอยู่ราว 500,000 คน


เจ้าหน้าที่ลิทัวเนีย กล่าวว่า คำสั่งจำกัดที่ว่านั้นมีผลมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน เพื่อยกระดับมาตรการลงโทษรัสเซียต่อปฏิบัติการในยูเครนที่ดำเนินมาเกือบ 4 เดือนแล้ว


รายงานข่าวระบุว่า มาร์คุส เอเดเรอร์ เอกอัครราชทูตอียูประจำมอสโก กล่าวย้ำสิ่งที่ลิทัวเนียประกาศไว้หลังการประชุมกับทางการรัสเซีย โดยกล่าวว่า ลิทัวเนียไม่ได้ดำเนินมาตรการใด ๆ ตามลำพัง แต่เป็นการดำเนินมาตรการลงโทษของอียู ไม่ได้มีการปิดกั้นแคว้นคาลินินกราดโดยสิ้นเชิง เพราะยังมีการขนส่งสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อสิ่งที่อยู่ในมาตรการลงโทษไปยังพื้นที่ดังกล่าวได้อยู่
ขณะเดียวกัน ทางรัสเซียได้ส่ง นิโคไล พาทรูเชฟ ประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย ผู้ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไปยังคาลินินกราด แล้ว


พาทรูเชฟ เตือนว่า มอสโก จะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในอนาคต และระบุว่า “รัสเซียจะทำการตอบโต้ต่อการกระทำที่เป็นปรปักษ์เช่นนี้อย่างแน่นอน” รวมถึงผลลัพธ์ที่จะออกมานั้นจะมีผลกระทบด้านลบอันรุนแรงต่อประชาชนของลิทัวเนียด้วย
พาทรูเชฟ ได้แจ้งต่อลิทัวเนียว่า รัสเซียจะตอบโต้คำสั่งห้ามการขนส่งสินค้าจากมาตรการคว่ำบาตรของอียูที่มีต่อคาลินินกราด ด้วยวิธีการที่พลเมืองของประเทศบอลติกแห่งนี้ จะรู้สึกเจ็บปวด


ขณะที่ เอเดเรอร์ เรียกร้องรัสเซียให้งดเว้นจากขั้นตอนและวาทกรรมที่จะทำให้ความขัดแย้งลุกลาม ในสิ่งที่มอสโกเรียกว่า “ข้อจำกัดในการต่อต้านรัสเซีย” สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างคาลินินกราดกับส่วนที่เหลือของรัสเซีย


ทั้งนี้ ลิทัวเนียปิดเส้นทางรถไฟจากรัสเซียไปยังคาลินินกราด เพื่อควบคุมสินค้าพื้นฐาน ซึ่งรวมทั้งวัสดุก่อสร้าง, โลหะและถ่านหิน ในการตอบรับมาตรการคว่ำบาตรของอียูชุดใหม่ ที่บังคับใช้ไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา 

 

ข้อมูล TNN World

 

 

จีนเรียกร้องให้เลิกคว่ำบาตรรัสเซียทันที ก่อนความช่วยเหลือหมดอายุ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

‘จาง จุน’ ผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ (UN) ของจีน กล่าวในการเปิดประชุมว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของซีเรียในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่า  จีนเรียกร้องทุกประเทศที่เกี่ยวข้องให้ยกเลิกการคว่ำบาตรซีเรียแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยทันที เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจของซีเรียที่ได้รับความบอบช้ำอย่างหนักจากสงคราม 


‘จาง’ กล่าวต่อไปว่า การอนุญาตให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดนเข้าสู่ซีเรียจะหมดอายุในเดือนกรกฏาคม และยังไม่มีการหาทางออกอย่างสมบูรณ์ เพียงแต่มีการอนุญาตเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในซีเรียเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่ง ‘จาง’ เชื่อว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะสร้างข้อตกลงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อซีเรีย 


ขณะเดียวกัน ‘จาง’ ยังเรียกร้องให้ยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมดต่อซีเรีย เพื่อที่จะช่วยสร้างบรรยากาศภายนอกที่ดีขึ้น เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ


ด้าน ‘อันโตนิโอ กูเตอร์เรส’ เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า ซีเรียต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระดับสูงสุดรอบ 11 ปี  หลังสงครามกลางเมืองเริ่มขึ้น ประชาชน 14.6 ล้านคนในซีเรียรอคอยความช่วยเหลือดังกล่าว   และประชาชน 12 ล้านคนเผชิญปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และประชาชน 90% ใช้ชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจน 


‘กูเตอร์เรส’ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยูเอ็นจัดความช่วยเหลือพร้อมขบวนรถ 5 ขบวนไปช่วยซีเรีย นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ตั้งแต่เมืองอิดลิบ เขตควบคุมของรัฐบาล และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย  เพื่อช่วยเหลือประชาชนหลายหมื่นคน และบอกว่า หนทางเดียวที่จะยุติโศกนาฏกรรมด้านมนุษยธรรมในซีเรีย คือ การหยุดยิง และหาทางออกทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนชาวซีเรีย ตัดสินอนาคตของตัวเอง

 

ข้อมูล TNN World

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง