รีเซต

รัฐประหารเมียนมา : ทหารกะเหรี่ยงแพร่ภาพสินค้าจากไทยไปเมียนมา เลขายูเอ็นประณามการฆ่าประชาชน

รัฐประหารเมียนมา : ทหารกะเหรี่ยงแพร่ภาพสินค้าจากไทยไปเมียนมา เลขายูเอ็นประณามการฆ่าประชาชน
ข่าวสด
21 มีนาคม 2564 ( 01:01 )
70

กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชจากเมียนมามากว่า 70 ปี อ้างว่า การปิดล้อมพื้นที่ในเขตอิทธิพลของเคเอ็นยูในเมียนมาทำให้กองทัพเมียนมาต้องหันมาลำเลียงสินค้าผ่านทางไทยแทน ด้านผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวรของไทยระบุเป็นการค้าชายแดนตามปกติ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ( เคเอ็นยู) ด้านชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก เปิดเผยเมื่อ 20 มี.ค. ว่า ทางทหารรัฐบาลเมียนมา ได้ส่งข้าวสาร จำนวน 700 กระสอบ พร้อมด้วยเนื้อกระป๋อง น้ำมันพืช และใบชาแห้งถูกลำเลียงมาจากฝั่ง จ.เมียวดี เมียนมา เข้ามาที่ อ.แม่สอด จ.ตาก แล้วลำเลียงส่งไปที่ ริมชายหาดแม่น้ำสาละวิน บริเวณ ด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน แล้วส่งข้ามแม่น้ำไปฝั่งเมียนมา ทั้งนี้เพื่อส่งให้ทหารเมียนมาตามฐานปฏิบัติการริมแม่น้ำสาละวิน หลังจากนั้นจะลำเลียงด้วยเรือหางยาวไปส่งให้ทหารเมียนมา

 

KNU HANDOUT


ทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู แพร่ภาพที่อ้างว่า การปิดล้อมพื้นที่ในเขตอิทธิพลของเคเอ็นยูในเมียนมาทำให้กองทัพเมียนมาต้องหันมาลำเลียงสินค้าผ่านทางไทยแทน

การเปลี่ยนเส้นทาง เนื่องจากทหารเมียนมาไม่สามารถใช้พื้นที่จากจังหวัดผาปูน ในรัฐกะเหรี่ยง ลำเลียงไปยังพื้นที่ของทหารเมียนมาที่ประจำการอยู่ได้ หลังฝ่ายเคเอ็นยูได้ปิดเส้นทางไว้ทั้งหมด เพื่อป้องกันการเข้ามาจับกุมราษฎรกะเหรี่ยงที่มีกิจกรรมชุมนุมการต่อต้านการรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง

 

แหล่งข่าวจากเคเอ็นยูกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้พลโท โก่โก่ หม่อง แม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประสานมายังกองทัพภาคที่ 3 ของไทยเพื่อขออำนวยความสะดวก ซึ่งทางฝ่ายไทยไม่ได้ตอบรับตกลง เนื่องจากการลำเลียงเสบียงอาหารเดินทางไปยังแม่น้ำสาละวินเป็นพื้นที่ของฝ่ายของฝ่ายเมียนมา ที่มีกองกำลังหลายฝ่ายอยู่ จึงไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัย ขณะที่การขนส่งเสบียงอาหารครั้งนี้ ทางฝ่ายเมียนมาได้ว่าจ้างเอกชนไทยขนส่งเอง

 

ทหารไทยบอกเป็น "การค้าชายแดนตามปกติ"

เจ้าหน้าที่ทหารไทยรายหนึ่ง ใน กองกำลังนเรศวร ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา ด้าน จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮองสอน อ้างคำสัมภาษณ์ พลตรีอำนาจ ศรีมาก ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร ว่า ข่าวทหารไทยส่งข้าวสารให้ทางทหารเมียนมา นั้น ไม่เป็นความจริง และในภาพที่ปรากฎตามสื่อต่างๆนั้น เป็นภาพการซื้อขายกันปกติตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยส่งไปตามจุดผ่อนปรนที่สามารถส่งสินค้าได้ ส่วนที่ฝ่ายเมียนมาประสานมาเกี่ยวกับการขอร้องส่งข้าวสารให้ทางฝ่ายเมียนมา นั้นฝ่ายเมียนมาไม่เคยมีการประสานมา ขอย้ำว่า ทหารไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ เป็นการค้าชายแดนตามปกติ

 

KNU HANDOUT

 

ด้าน พล.ท.สันติพงษ์ ธรรมะปิยะ รองเสนาธิการทหารบก และ โฆษกกองทัพบก กล่าวกับบีบีซีไทย ว่า "จากการตรวจสอบในพื้นที่ ไม่มีกิจกรรมนี้ เป็นภาพเก่านานแล้ว"

 

ผู้ประท้วงเมียนมาเริ่มขอลี้ภัยในไทย

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. เจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัด กองร้อยทหารพรานที่ 3607 กรมทหารพรานที่ 66 จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวเมียนมา จำนวน 5 คน ที่บริเวณเสาหิน ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยทางเจ้าหน้าที่ทหารพาน ร่วมกับฝ่ายปกครอง, ตำรวจสภ.เสาหิน, สาธารณสุขตำบลเสาหิน ร่วมตรวจคัดกรอง และวัดอุณหภูมิร่างกายชาวเมียนมาทั้งหมด เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า ร่างกายปกติ ทุกคนให้เหตุผลในการข้ามมายังเขตไทยว่า เพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง หลังจากที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านการก่อรัฐประหาร ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจตามล่า และไปจับกุมถึงที่บ้าน

 

KNU HANDOUT

 

เจ้าหน้าที่ไทยได้จัดสถานที่ไว้ยังพื้นที่ตำบลเสาหินเป็นการชั่วคราว สำหรับผู้ลี้ภัย ทั้ง 5 คน คือ ชายวัย 30 ปี หญิงวัย 22 ปี และ 43 ปี เยาวชนวัย 16 ปี และ 10 ปี

เจ้าหน้าที่ไทยแจ้งว่า ล่าสุดมีข่าวมาว่า จะมีชาวเมียนมา อพยพเข้ามาอีกราว 500 คน ซึ่งได้อพยพมาพักรอที่บ้านห้วยทราย เขตพื้นที่บ้านน้ำมาง อ.ลอยก่อ รัฐคะยา และ ที่ฐานยามู ฐานที่มั่นกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงคะยา (Karenni national Progressive Party) ที่อยู่ตรงข้ามบ้านยามชายแเดน แม่ส่วยอู หมู่ 8 ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

 

พลตรี เทอดศักดิ์ งามสนอง เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 3 กล่าวว่า ขณะนี้กองทัพภาคที่ 3 เตรียมความพร้อมในการหาสถานที่รองรับผู้หนีภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ด้านจังหวัดตาก ตามนโยบาย ผู้บัญชาการทหารบกเรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนจะจัดเป็นพื้นที่แรกรับเพื่อคัดแยก แบ่งไปตามสถานที่ ที่จัดเตรียมไว้ ขณะนี้ได้มีการตั้งเต็นท์ภายในสนามกีฬาแล้ว ยืนยันว่ามีความพร้อมมากกว่า 90%

 

ปฏิกิริยานานาชาติ

เมื่อวันศุกร์ (19 มี.ค.) โฆษกของ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์จากนครนิวยอร์กประณามการใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมโดยกองทัพเมียนมา

"การสังหารผู้ประท้วงที่ชุมนุมโดยสงบและการกวาดล้างจับกุมผู้ประท้วงและผู้สื่อข่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อย่างเด็ดขาด...ท่านเลขาธิการจะเดินหน้าอยู่เคียงข้างประชาชนและความมุ่งหวังของประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศเมียนมาที่เดินหน้าไปด้วยเสถียรภาพและสันติ"

 

ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อ 19 มี.ค. เรียกร้องให้บรูไน ที่เป็นประธานอาเซียน จัดการประชุมผู้นำ 10 ชาติ อาเซียนเป็นการด่วน

อินโดนีเซียเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในเมียนมาเป็นการด่วน เพื่อไม่ให้มีเหยื่อเพิ่มขึ้น"

นายกรัฐมนตรี มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน ของมาเลเซีย แถลงในวันเดียวกันว่า เขา "ตระหนก" กับ "การใช้ความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างไม่ลดละ" ต่อพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ และเห็นด้วยกับข้อผู้นำอินโดนีเซีย

 

สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. มีรายงานว่า ตำรวจเมียนมาตรงข้าม อ.แม่สอด ใช้กระสุนยางปราบผู้ชุมนุมปิดถนนเมืองเมียวดี และมีผู้ถูกจับไปกว่าสิบคน

 

สกัดทันที

เมื่อ 19 มี.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง ได้ใช้อาวุธปืนบรรจุกระสุนยาง ยิงใส่ผู้ชุมนุมบนท้องถนนเมืองเมียวดี ขณะที่มีผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ประมาณ 40 คน ออกมาใช้กระสอบออกมาปิดถนน และปลุกระดมให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุม แต่ยังไม่ทันที่จะได้กระจายข่าวไปทั่ว เจ้าหน้าที่ตำรวจเมียวดี ได้เข้าไปสั่งให้สลายตัว และยิงด้วยลูกกระสุนยาง ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมประท้วงแตกตื่น ตกใจกลัวพากันหลบกระสุนปืน ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับผู้ชุมนุมไปกว่า 10 คน โดยส่งดำเนินคดีที่ สภ.เมียวดี

เจ้าหน้าที่เคเอ็นยู แจ้งว่า ทหารรัฐบาลเมียนมา จำนวน 1 กองร้อย พร้อมอาวุธปืนครบมือ เดินทางไปยังหมู่บ้านเลอตอกอ อยู่ห่างจากทางใต้เมืองเมียวดีไปประมาณ 4 กิโลเมตร หมู่บ้านดังกล่าวเป็นพื้นที่ของเคเอ็นยู มีที่อยู่อาศัยที่ทางองค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศญี่ปุ่นสร้างให้ แต่ถูกทหารเคเอ็นยูไม่ให้เข้าหมู่บ้าน หลังจากที่ฝ่ายทหารเมียนมาจะขออาศัยในหมู่บ้าน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านมีการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง