รีเซต

ศบค. เผยแผนระดมฉีดวัคซีน เร่งกระจายอีก 5 แสนโดสก่อนเพิ่มเป็น 1 ล้านโดสให้ได้ใน 2 สัปดาห์

ศบค. เผยแผนระดมฉีดวัคซีน เร่งกระจายอีก 5 แสนโดสก่อนเพิ่มเป็น 1 ล้านโดสให้ได้ใน 2 สัปดาห์
มติชน
14 กรกฎาคม 2564 ( 14:58 )
59
ศบค. เผยแผนระดมฉีดวัคซีน เร่งกระจายอีก 5 แสนโดสก่อนเพิ่มเป็น 1 ล้านโดสให้ได้ใน 2 สัปดาห์

ศบค. เผย แผนระดมฉีดวัคซีน เร่งกระจายอีก 5 แสนโดสก่อนเพิ่มให้เป็น 1 ล้านโดสให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ พบอีก 6 จังหวัดยอดผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย ชี้แม้ไม่ได้จัดเป็นพื้นที่สีแดง แต่ให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด

 

 

วันที่ 14 กรกฎาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า รายงานสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 สรุปยอดผู้ฉีดวัคซีน จนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้น 322,488 โดส ทำให้มียอดสะสมตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 13,230,681 โดส

 

 

กลุ่มที่เน้นย้ำ คือ ประชาชนในพื้นที่การระบาด ในกรุงเทพมหานคร ที่มียอดฉีดวัคซีนในวันที่ 13 กรกฎาคม เพิ่มขึ้น 80,467 โดส ทำให้มียอดรวมสะสม 4,275,465 โดส ทำให้ประชากรในกทม. ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 อยู่ที่ 43.61% ส่วนเข็มที่ 2 คิดเป็น 11.92%

 

 

ในขณะที่เป้าหมายในการฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ 70% ของประชากร แต่วัคซีนเข็มที่ 1 ในพื้นที่กทม.อยู่ที่ 43.61% จึงจำเป็นเป็นต้องระดมการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งกรมควบคุมโรคมีแผนจะกระจายวัคซีนใน กทม.ช่วงสัปดาห์นี้ ถึงต้นสัปดาห์หน้า อีก 500,000 โดส และจะเพิ่มให้ได้เป็น 1 ล้านโดสภายใน 2 สัปดาห์นี้

 

 

สำหรับการฉีดวัคซีนจำแนกตามกลุ่มเป้าหมายในกทม. ในวันที่ 13 กรกฎาคม กลุ่มผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้น 15,785 โดส คิดเป็น 30.5% ของผู้สูงอายุในพื้นที่ ส่วนกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เพิ่มขึ้น 10,532 คิดเป็น 44.20% การฉีดวัคซีนทั้งสองกลมมีการขยับขึ้น แต่ว่ายังไม่ถึงเป้าหมาย อย่างน้อย 50% ของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ เน้นย้ำว่าหลังการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ที่ร่างกายจะเกิดภูมิคุ้มกัน ดังนั้นต้องเร่งระดมฉีดให้ผู้สูงอายุให้ได้อย่างน้อย 50% อัตราการป่วยหลัก หรืออัตราการตายในพื้นที่ กทม. น่าจะลดลงได้ จึงเน้นย้ำให้ผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีนใน 1-2 สัปดาห์นี้

 

 

รายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในไทย ประจำวันที่ 13 กรกฎาคม จำนวน 9,317 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 87 คน ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 2,840 คน คิดเป็น 0.85% ผู้หายป่วยกลับบ้าน 5,129 ราย ซึ่งทำให้ได้จำนวนเตียงกลับคืนมา ส่วนผู้ที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 56,057 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 3,201 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 828 ราย คิดเป็น 25% หรือ 1ใน4 ของผู้ป่วยอาการหนัก

 

 

การกระจายตัวของผู้ติดเชื้อ ในกทม.และปริมณฑล ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 4,862 ราย ส่วนพื้นที่จังหวัดอื่นๆ อีก 67 จังหวัด ยอดมีอัตราเพิ่มขึ้น รวมเป็น 3,667 ราย ส่วนการกระจายตัวของผู้เสียชีวิต ในกทม. มี 55 คน จากยอดรวม 87 คน ในการรายงานของกรมควบคุมโรค สะท้อนให้เห็นว่าจำนวนยอดผู้เสียชีวิตในต่างจังหวัดมีการเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของรายงานยอดผู้ติดเชื้อ ที่มีการกระจายไปทั้ง 77 จังหวัดแล้ว

 

 

กลุ่มผู้เสียชีวิต ค่ากลางของอายุ อยู่ที่ 71 ปี น้อยสุด 24และ มากสุด 104 ปี ใน 70% ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่มีอายุเกิด 60 ปี และมีโรคประจำตัว ส่วนระยะเวลาการเข้ารักษาก่อนเสียชีวิต นานที่สุด 55 วัน และมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย รวมทั้งพบผู้ที่มีผลโควิดเป็นบวกหลังเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย จึงย้ำไปที่โรงพยาบาล และการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า หากผู้ป่วยที่เสียชีวิตไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาของโรงพยาบาล ก็ขอให้รายงานยอดผู้เสียชีวิตที่บ้านเข้ามาด้วย

 

 

 

ส่วนรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายจังหวัดใน 10 อันดับ 1.กทม. 2,332 ราย ในส่วนของ กทม. มีรายงานคลัสเตอร์ที่เฝ้าระวัง 130 แห่ง 2.สมุทรปราการ 1,006 ราย 3.สมุทรสาคร 557 ราย 4.ชลบุรี 513 ราย 5.ปทุมธานี 368 ราย 6.นนทบุรี 347 ราย 7.ฉะเชิงเทรา 339 ราย 8.นครปฐม 202 ราย 9.ปัตตานี 195 ราย และ 10. นราธิวาส 191 ราย ให้เห็นว่ายังการติดเชื้อยังอยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ และจากแผนภาพการกระจายตอนนี้ครบทั้ง 77 จังหวัดและมีอีก 6 จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย ได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา มหาสารคาม ศรีษะเกษ และราชบุรี จากรายงานการสอบส่วนโรค พบว่า มีส่วนหนึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มจัดเลี้ยง แคมป์คนงาน โรงงาน และตลาด ซึ่งนำไปกระจายสู่ชุมชนและครอบครัว จึงขอย้ำว่าประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัดดังกล่าวจะไม่ได้จัดอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่ขอให้การเฝ้าระวังอยู่ในระดับสูงสุดด้วย เพราะว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

โดยเฉพาะมีการเดินทางข้ามพื้นที่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว และจากก่อหน้านี้ที่มีบางจังหวัดออกมาตรการรับคนกลับไปรักษาที่บ้านหรือภูมิลำเนา ตอนนี้ในต่างจังหวัดได้ประกาศว่าตอนนี้สถานการณ์เริ่มเต็มศักยภาพแล้ว ไม่สามารถรองรับผู้ที่เดินทางจากพื้นที่สีแดงเข้มได้ ดังนั้นหากผู้ใดมีความประสงค์จะเดินทางกลับไปรักษาตัวที่ต่างจังหวัด ต้องติดต่อและตรวจสอบกับจังหวัดปลายทางก่อนเสมอ เพราะว่าหลายจังหวัดไม่สามารถรองรับได้แล้ว

 

 

และฝากความเป็นห่วงไปถึงเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจคัดกรอง เพราะอาจจะยังมีผู้ป่วยเดินทางข้ามพื้นที่ เพื่อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ซึ่ง ศบค.ชุดเล็กจึงเป็นห่วงว่า เจ้าหน้าที่อาจจะเกิดความเสี่ยง และโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วย อาทิ ในพื้นที่ กทม. พบว่าผู้ที่เข้ามาติดต่อ แบบ วอร์ค-อิน มีผู้ที่มีผลติดเชื้อ 17% ซึ่งโรงพยาบาลก็จะมีหน่วยคัดกรอง ผู้ที่เสี่ยง ก็จะมีการตรวจอย่างเข้มงวด ก็ขอให้คงความเข้มงวดต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง