รีเซต

NARIT จับมือ ม.วลัยลักษณ์ ปักหมุดสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส แห่งที่ 2

NARIT จับมือ ม.วลัยลักษณ์ ปักหมุดสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส แห่งที่ 2
TNN ช่อง16
12 กันยายน 2567 ( 10:50 )
13

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จับมือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ลงนามความร่วมมือสร้าง "กล้องโทรทรรศน์วิทยุนครศรีธรรมราช" เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส (VGOS) แห่งที่ 2 ของไทย ใช้ศึกษาด้านภูมิมาตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจากหอดูดาวเซี่ยงไฮ้ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน คาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 2568


2 กันยายน 2567 - เชียงใหม่ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  และ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโครงการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส (VLBI Global Observing System: VGOS) ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านดาราศาสตร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน


กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอสในโครงการดังกล่าว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร ได้รับการสนับสนุนจากหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Astronomical Observatory : SHAO) ภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) ทั้งในส่วนโครงสร้างอาคารและจานรับสัญญาณ ตลอดจนอุปกรณ์รับสัญญาณ รวมมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท โดย สดร. และ มวล. จะร่วมกันบริหารจัดการและประสานงานกับหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อดำเนินการก่อสร้าง และติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส พร้อมอุปกรณ์รับสัญญาณ รวมถึงทดสอบการใช้งาน โดย มวล. ได้มอบพื้นที่เพื่อเป็นสถานที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส และดูแลระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน สำหรับใช้ภายในหอสังเกตการณ์ เพื่อให้กล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอสสามารถใช้งานและทำงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ด้าน สดร. จะสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการศึกษาวิจัย รวมถึงเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูงทางดาราศาสตร์แก่ มวล. อาทิ ทักษะความรู้ทางด้านดาราศาสตร์วิทยุและภูมิมาตรศาสตร์ เทคโนโลยีระบบรับและประมวลสัญญาณคลื่นวิทยุ การพัฒนาระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์วิทยุ การวิเคราะห์ข้อมูล และวิทยาการข้อมูล เป็นต้น รวมถึงการบริหารจัดการ ซ่อมและบำรุงรักษากล้องโทรทรรศน์


นอกจากนี้ สดร. และ มวล. จะร่วมกันวิจัย และพัฒนาทักษะความรู้ด้านดาราศาสตร์วิทยุ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอสเป็นเครื่องมือหลักสำหรับการศึกษาด้านภูมิมาตรศาสตร์ อีกทั้งบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจะสามารถใช้ประโยชน์จากกล้องโทรทรรศน์และข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับการเรียน การสอน การวิจัย การบริการวิชาการ รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ เป็นต้น  


ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า กล้องโทรทรรศน์วิทยุนครศรีธรรมราช ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร นับเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอสแห่งที่ 2 ของไทย โดยแห่งแรกได้ติดตั้งเรียบร้อยแล้วภายในพื้นที่หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ จ. เชียงใหม่ เมื่อช่วงต้นปี 2567 ภายใต้การสนับสนุนของหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้เช่นเดียวกัน กล้องโทรทรรศน์วิทยุนครศรีธรรมราช มีระยะห่างจาก จ. เชียงใหม่ ที่ติดตั้งกล้องตัวแรก เป็นระยะทางประมาณ 1,132 กิโลเมตร ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดตามเงื่อนไขของระยะห่างที่เหมาะสมสำหรับเทคนิคแทรกสอดระยะไกล จึงเป็นจุดที่เหมาะสมอย่างยิ่ง อีกทั้ง มวล. มีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีสถานที่ และเทคโนโลยี ที่สามารถสนับสนุนงานทางด้านเทคนิค บริหารโครงการ และทำงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้


กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอสนั้นมีขนาดเล็กแต่มีความถี่สูง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์วิทยุ การศึกษาด้านภูมิมาตรศาสตร์ หรือ ยีออเดซี (Geodesy) และการเชื่อมโยงเครือข่ายแทรกสอดระยะไกล (Very Long Baseline Interferometry : VLBI) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการสังเกตการณ์ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลและศึกษาการวางตัวของโลกในอวกาศ (Earth Orientation Parameters) ไปจนถึงความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลก ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถใช้ทำนายการเกิดแผ่นดินไหวของนักธรณีวิทยา และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ธรณีวิทยา และธรณีฟิสิกส์ประยุกต์ นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดไปสู่งานวิจัยดาราศาสตร์ รวมไปถึงการติดตามดาวเทียม และยานสำรวจอวกาศห้วงลึก ความร่วมมือครั้งนี้จะนำมาสู่การพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงของบุคลากร โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมสื่อสาร และเมื่อเปิดดำเนินการแล้ว จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่าย VLBI กับจีนและทั่วโลกอีกด้วย


ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ในนามมหาลัยวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยด้านดาราศาสตร์ของประเทศ การลงนามครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของความร่วมมือที่เข้มแข็ง และจะเป็นจุดเริ่มต้นอันดีของมหาวิทยาลัยอาจจะมีการเรียนการสอน หรือภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์เกิด เพื่อให้มีอาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัยทางด้านนี้โดยตรง รวมถึงการที่บุคลากรและนักศึกษาจะใช้ประโยชน์จากการมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอสภายในมหาวิทยาลัย ทั้งการศึกษาดูงาน เรียนรู้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของจริง และใช้ศึกษาวิจัยที่จะนำไปสู่การตีพิมพ์งานวิจัยในอนาคต


พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดขึ้น ณ ห้องประชุมเออซาร์เมเจอร์ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ มี Prof. Jinling Li ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร จากสถาบันหอดูดาวแห่งชาตินครเซี่ยงไฮ้ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน และเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง