รีเซต

จับตา!รายชื่อ“ผู้มีอิทธิพล” “อนุทิน-ชาดา”ลุยล้างมาเฟีย

จับตา!รายชื่อ“ผู้มีอิทธิพล”  “อนุทิน-ชาดา”ลุยล้างมาเฟีย
TNN ช่อง16
1 ตุลาคม 2566 ( 12:17 )
94
จับตา!รายชื่อ“ผู้มีอิทธิพล”  “อนุทิน-ชาดา”ลุยล้างมาเฟีย

"ปัญหาของประเทศที่ธรรมดา แต่คนอื่นเห็นว่าไม่ธรรมดา คือ การเติบโตของอิทธิพลในวงการการเมือง การศึกษา ธุรกิจ นอกจากนั้นการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่บางคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ธรรมดา"




หลังจากที่ไทยได้รัฐบาลใหม่เป็นที่เรียบร้อย และแต่ละกระทรวงก็เดินหน้าทำงานอย่างเข้มข้น และหนึ่งในกระทรวงที่ถูกจับตามากที่สุด นั่นก็คือ กระทรวงมหาดไทย


เมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด นั่นก็คือข่าวของผู้มีอิทธิพล ที่ได้เข้ามาเกี่ยวกันกับข้าราชการตำรวจ จนทำให้เกิดเสียงสะท้อนจากประชาชนว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย   


ที่ผ่านมาทุกรัฐบาล เดินหน้าแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับรัฐบาลชุดนี้ ที่ประกาศ ว่าจะล้างมาเฟียและผู้มีอิทธิพลอย่างจริงจัง โดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ย้ำว่า จะต้องแก้ปัญหานี้โดยเร็ว และช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ คณะทำงานนโยบายจัดการผู้มีอิทธิพล จะเข้ามารายงานและจะประชุมถึงขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติจะเป็นอย่างไร



ขณะที่ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย เผยว่า ขณะนี้การจัดทำบัญชีผู้มีอิทธิพลของกระทรวงมหาดไทย เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีอยู่ประมาณ 600-700 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มสีแดงไม่ถึง 100 ราย เนื่องจากบางส่วนล้มหายตายจากไป ที่เหลือเป็นกลุ่มสีเหลืองที่จัดอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ต้องรอข้อมูลจากตำรวจและฝ่ายความมั่นคงก่อนว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่


ปัญหาของกลุ่มผู้มีอิทธิพล ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่สั่งสมมานาน โดย “วันมูหะมัดนอร์ มะทา”  ประธานรัฐสภา ที่ได้บรรยายตอนหนึ่งในงานสัมมนาของกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา หัวข้อ "บ้านเมืองไม่สงบ เมื่อไม่เคารพกฎหมาย"  ว่า "ปัญหาของประเทศที่ธรรมดา แต่คนอื่นเห็นว่าไม่ธรรมดา คือ การเติบโตของอิทธิพลในวงการการเมือง การศึกษา ธุรกิจ นอกจากนั้นการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่บางคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ธรรมดา"



นอกจากนี้ประธานรัฐสภา ยังกล่าวว่า แม้มีกฎหมายมาก แต่ไร้คนปฏิบัติหรือเชื่อถือ จะแก้ปัญหาไม่ได้ เช่น เรื่องสีเทา เรื่องกำนันนก เป็นต้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่รับผลประโยชน์ทำให้เกิดเป็นผู้มีอิทธิพล ดังนั้นบ้านเมืองไม่สงบ เพราะคนที่ไม่เคารพกฎหมาย ดังนั้นต้องทบทวนเพื่อให้กฎหมายอำนวยความยุติธรรม และประชาชนมีศีลธรรม จรรยา


สำหรับพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลที่สำคัญ 16 ฐานความผิด ได้แก่

(1) นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ

(2) การฮั้วประมูลและขัดขวางการเสนอ/แข่งขันราคา ในการประมูลงานของทางราชการ

(3) การเรียกรับผลประโยชน์จากคิวรถจักรยานยนต์ และรถยนต์รับจ้างผิดกฎหมาย

(4) การเรียกรับผลประโยชน์จากโรงงาน ร้านค้า สถานบริการ และสถานประกอบการต่างๆ

(5) การลักลอบขนสินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน น้ำมันปาล์มเถื่อน บุหรี่/สุราเถื่อน และรับเคลียร์การนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย

(6) การลักลอบจัดให้มีบ่อนการพนัน 

(7) การลักลอบค้าหญิงและเด็ก บังคับค้าประเวณี โสเภณีเด็ก และให้หมายความรวมถึง ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์

(8) การลักลอบนำคนเข้า-ออก และอยู่ในราชอาณาจักร โดยผิดกฎหมาย

(9) การหลอกลวงประชาชนไปทำงานต่างประเทศ

(10) การหลอกลวงต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว

(11) มือปืนรับจ้าง

(12) การรับจ้างทวงหนี้ด้วยการข่มขู่หรือใช้กำลัง

(13) การลักลอบค้าอาวุธสงคราม อาวุธปืนเถื่อน และให้หมายความรวมถึงผู้สะสมอาวุธปืนและวัตถุระเบิด

(14) การบุกรุกที่ดินสาธารณะ และหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(15) การเรียกรับผลประโยชน์จากการรับเคลียร์หรือคุ้มครองการกระทำผิดบนเส้นทางหลวงและ/หรือสาธารณะ

(16) ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงผู้สะสมอาวุธที่มีพฤติการณ์คุ้มกันผู้ค้ายาเสพติด และทวงหนี้ที่เกิดจากการค้ายาเสพติด


นับจากนี้ คงต้องจับตาคณะทำงานที่กระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้นว่า จะแก้ปัญหานี้ได้มากน้อยเพียงใด เพราะอย่าลืมว่า กลุ่มผู้มีอิทธิพล ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่มีมายาวนาน และที่สำคัญ เชื่อว่ามีเครือข่ายอยู่ในหลายวงการ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ท้าทายของ “อนุทิน” และ “ชาดา” ที่จะต้องแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว


มนตรี ขัดเรือง : เรียบเรียง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง