รีเซต

ปศุสัตว์ อุดรธานี ยันยังไม่พบ ASF แต่โรค PRRS ทำหมูตายไป 4.8 พันตัว

ปศุสัตว์ อุดรธานี ยันยังไม่พบ ASF แต่โรค PRRS ทำหมูตายไป 4.8 พันตัว
มติชน
12 มกราคม 2565 ( 14:11 )
77
ปศุสัตว์ อุดรธานี ยันยังไม่พบ ASF แต่โรค PRRS ทำหมูตายไป 4.8 พันตัว

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการณ์อุดรธานี ได้มอบหมายให้นายสุมนชาติ แสงปัญญา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี รายงานสถานการณ์ระบาด ของโรคติดต่อในสุกร พร้อมขอสังการและข้อเสนอแนะ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในห้องประชุม และนายอำเภอฯที่ร่วมประชุมทางไกลจาก 20 อำเภอ

 

นายสุมนชาติ แสงปัญญา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี ชี้แจงว่า อุดรธานีมีฟาร์มเลี้ยงสุกรทั้ง 20 อำเภอ เป็นฟาร์มระบบปิด (รายใหญ่-กลาง) 213 ราย เป็นฟาร์มระบบเปิด (รายย่อย) 3,500 ราย ผลิตสุกรออกสู่ตลาดปีละ 340,000 ตัว ที่ผ่านมายังไม่มีการตรวจพบ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF (AFRICAN SWINE FEVER) ที่มีการตรวจพบครั้งแรกที่ จ.นครปฐม โดยมีสุกรในฟาร์มรายย่อยล้มตาย ตรวจพบว่าเป็นโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร หรือ PRRS (Porcine reproductive and respiratory syndrome)

 

“โรคระบาดในสุกรมีอยู่หลายโรค สำหรับที่ตรวจพบในอุดรธานีเป็นโรค PRRS พบใน 14 อำเภอ คือ อำเภอเมือง , กุดจับ , พิบูลย์รักษ์ , น้ำโสม , เพ็ญ , บ้านดุง , ทุ่งฝน , ประจักษ์ศิลปาคม , กุมภวาปี , นายูง , กู่แก้ว , โนนสะอาด , ศรีธาตุ และหนองหาน ช่วงแรกมีรายงาน 148 ราย สุกร 4,800 ตัว วงเงินชดเชย 17.376 ล้านบาท จัดส่งเอกสารไปยังกรมปศุสัตว์แล้ว ทั้งหมดเป็นเกษตรกรรายย่อย เป็นการเลี้ยงด้วยระบบเปิด”

นายสุมนชาติ แสงปัญญา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี ชี้แจงต่อว่า โรค PRRS มีวัคซีนป้องกัน หากเกิดการระบาดไม่รุนแรง โรค ASF ที่ยังไม่มีวัคซีน และการระบาดรุนแรง หลักการควบคุมโรค มีลักษณะคล้ายกัน จึงสามารถทำควบคู่กันไป ด้วยมาตรการเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้ ให้ความรู้เพื่อปรับระบบการเลี้ยง “กู๊ด ฟาร์มมิ่ง เมเนจเม้นท์” ให้สามารถป้องกันโรคได้ และนำเกษตรกรไปสู่ การป้องกันโรคที่ดี-เหมาะสม พัฒนาระบบเป็นฟาร์มมาตรฐาน

 

ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี กล่าวต่อว่า ตลอดจนการให้ความรู้เชิงรุก ควบคู่ไปกับการตรวจสอบ สุกรป่วยตายผิดปกติ และควบคุมการเคลื่อนย้าย โดยมีหนังสือแจ้งไปทุกอำเภอ และเกษตรกรแล้ว หากมีสุกรตายผิดปกติ หริอการเคลื่อนย้ายสุกร การนำลูกสุกรมาขุน ให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอก่อน เพื่อตรวจหาเชื้อไม่ให้เล็ดรอดเข้ามา , ขายสุกรออกเป็นชุด ๆ , เตรียมคอกโรงเรือนให้สะอาด , อาหารสุกรมาจากร้านที่เชื่อถือ หากมีการนำเศษอาหารมาเลี้ยง ขอให้นำมาต้มให้สุกก่อนเพื่อฆ่าเชื้อ

นายสุมนชาติ แสงปัญญา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี ตอบคำถามด้วยว่า เมื่อราคาสุกรชำแหละสูงขึ้น อาจจะมีผู้มาเลี้ยงสุกรแบบรายย่อย ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะแพร่โรคได้ง่าย น่าจะหันมาเลี้ยงสัตว์อื่น ทดแทนโปรตีนจากสุกรที่หายไป อาทิ เลี้ยงแพะ , ไก่พื้นบ้าน , ไก่สามสายพันธุ์ , จิ้งหรีด หรือแม้กระทั่งปลา ที่มีแผนจะเข้ามาส่งเสริมอยู่แล้ว

ขณะที่นายอำเภอที่เคยรับราชการจังหวัดชายแดน แสดงความเป็นห่วงว่า โรคระบาดสุกรในประเทศเพื่อนบ้าน มีการระบาดมานานแล้ว จังหวัดชายแดนเข้มงานมาก ห้ามนำเข้ารวมทั้งผลิตภัณฑ์ เพราะเชื้อจะอยู่ได้นาน ขณะที่อุดรธานีอยู่ไม่ห่างจากชายแดน น่าจะต้องเฝ้าระวังในเรื่องนี้ด้วย รวมไปถึงมีความเป็นห่วง ชาวบ้านที่ซื้อลูกหมูมาเลี้ยง ตอนเอามาใหม่ๆก้แข้งแรงดี แต่พอเลี้ยงไปได้กว่า 2 เดือน หมูเริ่มยะยอยตาย จึงน่าจะต้องพิจารณาในเรื่องนี้

นายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ราคาเนื้อสุกรชำแหละของอุดรธานี ขยับราคาขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย อยู่ในระดับ กก.ละ 180-200 บาท แตกต่างจากบางจังหวัดที่สูงกว่านี้ ส่วนโครงการ “หมูพาณิชย์” กก.ละ 150 บาท มีจำหน่ายที่ตลาดโพศรี ถ.โพศรี ทน.อุดรธานี 2 แผงๆละ 100 กก./วัน ซื้อได้รายละ 1 กก.เท่านั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ก็ได้รับการตอบรับดีทุกวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง