เครือซีพี-แม็คโคร ผนึก มูลนิธิปิดทองหลังพระ ชูโมเดลปลูกผักปราณีต มูลค่าสูง สร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 25 เท่า
(ภาพ : นายกฤษณะ สงวนศักดิ์ ผู้จัดการฝ่าย ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ด้านซ้าย)
และ นางกนิษฐา ด้วงคำภา เกษตรกร สมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จ.อุดรธานี (ด้านขวา))
นายกฤษณะ สงวนศักดิ์ ผู้จัดการฝ่าย ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ให้ความสำคัญในการสร้างคุณค่าและการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม เป้าหมายหลักของเราคือการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของสังคมโดยรวม พัฒนาชุมชนและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เครือฯ จึงได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ หนึ่งในพื้นที่ที่ดำเนินงานด้านความยั่งยืนในภาคอีสานใน 3 จังหวัด คือ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี และ จ.กาฬสินธุ์ โดยร่วมกับ มูลนิธิปิดทองหลังพระ และบูรณาการกับหลายภาคส่วนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายช่วยให้ชุมชนมีความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกัน
(ภาพ : ผักปราณีต จากวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จ.อุดรธานี สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ)
สำหรับพื้นที่ที่ถือว่ามีปัญหาสำคัญ คือ ชุมชนบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่เผชิญปัญหาภัยแล้งในเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้ขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิต มีรายได้น้อย ส่งผลต่อปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเครือซีพี มีศักยภาพและองค์ความรู้ในด้านการเกษตร และศักยภาพด้านการตลาดจากกลุ่มธุรกิจในเครือฯ โดยกว่า 5 ปี ที่เครือฯ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรใน จ.อุดรธานี โดยเลือกส่งเสริมในพื้นที่ต้นแบบปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ในรูปแบบ “เกษตรแม่นยำ” ทดแทนการปลูกพืชชนิดเดิม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 17 ข้อ (Sustainable Development Goals: SDG) ทั้งด้านสร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลให้มีการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน และด้านเพิ่มรายได้ ให้เพียงพอตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
(ภาพ : ผักปราณีต จากวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จ.อุดรธานี สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ)
การปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ เกษตรกรได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นกว่า 25 เท่า !!
ข้อดีของการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ อาทิ ต้นหอม ผักเคล ผักสลัด คะน้า ทดแทนการปลูกข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง คือ ด้านกระบวนการจัดการใช้น้ำน้อยกว่าแต่สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าเดิมประมาณ 25 เท่า ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดช่วงหน้าแล้ง ขายได้ราคาดี ปลูกในโรงเรือนโดยใช้เวลาปลูก 45 วัน ซึ่งใน 1 ปี สามารถปลูกได้ถึง 8 ครั้ง ถือว่าสร้างรายได้ให้เกษตรกรตลอดทั้งปี อีกทั้งสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเป็นแบบน้ำหยด ใช้ในปริมาณเท่าที่จำเป็น ตลอดจนเพิ่มพูนรายได้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เกษตรกรร่วมกันจัดตั้งการทำงานเป็นกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จ.อุดรธานี” ให้เกิดความเข้มแข็ง มีกำลังต่อรองทางการตลาด เพื่อมุ่งสู่กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างเต็มรูปแบบ ทำแบบครบวงจร ให้เกิดผลผลิตคุณภาพดี มุ่งจำหน่ายเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด
(ภาพ : นางกนิษฐา ด้วงคำภา เกษตรกร สมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จ.อุดรธานี)
ปัจจุบัน เกษตรกรส่งผลผลิตเข้าจำหน่ายใน “แม็คโคร” และแหล่งร้านค้าต่างๆ สร้างรายได้กว่า 6 แสนบาท
นางกนิษฐา ด้วงคำภา เกษตรกร สมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จ.อุดรธานี เล่าว่า เริ่มแรกต้องแก้ปัญหาเรื่องน้ำทางการเกษตร โดยได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ จากนั้นก็มีการทดลองปลูกพืชหลังนาหลากหลายชนิด ได้บ้างล้มเหลวบ้าง จนกระทั่ง เครือซีพี และมูลนิธิปิดทองหลังพระ เข้าไปแนะนำการ “ปลูกผักปราณีต มูลค่าสูง” โดยคัดเลือกเกษตรกรที่สมัครใจ มีประสบการณ์ปลูกผักอยู่แล้ว มีต้นทุนน้ำที่เพียงพอ โดยให้องค์ความรู้ การบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ - ปลายน้ำ ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม สามารถสร้างผลผลิตผักที่มีคุณภาพ ได้รับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) มีมาตรฐานที่สามารถจำหน่ายเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจในเครือซีพีอย่าง บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จํากัด (มหาชน) หรือ “แม็คโคร (Makro)” ในการรับซื้อผลผลิตคุณภาพสูงของเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม และส่วนหนึ่งจำหน่ายสู่ตลาดอื่นๆในพื้นที่ จ.อุดรธานี จนสามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรกว่า 6 แสนบาท
(ภาพ : วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จ.อุดรธานี ส่งผักเข้าจำหน่ายใน Makro)
ปี 2566 สนับสนุนให้วิสาหกิจมุ่งสู่การเป็น Social Enterprise โดยขยายเป็น “Veggie Hub” จากความต้องการผักปลอดสารพิษมีแนวโน้มสูงขึ้น
เป้าหมายต่อไป คือการขยายขอบข่ายการรับซื้อผลผลิตเข้าวิสาหกิจชุมชน ให้กลายเป็นศูนย์กลางรับซื้อผัก (Veggie Hub) ครอบคลุมใน อ.หนองวัวซอ เพื่อเพิ่มกำลังในการส่งผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด อีกทั้งมองเห็นศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่เดิมและพื้นที่รอบๆ ใน อ.หนองวัวซอ โดยส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกผัก ซึ่งแนวคิดนี้ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่ามฯ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) รับซื้อผักคุณภาพเพื่อกระจายสู่ Makro และตลาดอื่นๆ เป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ โดยในอนาคตเครือซีพีมุ่งหวังให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นต้นแบบแห่งความยั่งยืน