ผลงานวิจัยชี้ติดโควิด-19 เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง? ย้ำไม่ติดเชื้อ-ไม่ติดซ้ำดีที่สุด
"หมอธีระ" เปิดข้อมูลผลงานวิจัยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วย ทั้งไต หัวใจ สมอง แนะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อซ้ำจะดีที่สุด
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า ผลของการติดเชื้อโควิด-19 ต่อ ไต หัวใจ และสมอง
ความรู้จากการวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ใช่แต่ติดเชื้อจบที่ทางเดินหายใจ
แต่ส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วย ทั้งไต หัวใจ สมอง
ทีมงานจากประเทศสหรัฐอเมริกาทำการศึกษาตั้งแต่มีนาคม 2020 ถึงมกราคม 2022 พบว่าผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโควิด-19 จนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลมีอัตราการตรวจพบค่าการทำงานของไตผิดปกติเฉียบพลันได้ราวหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด
ในขณะที่ทีมวิจัยจากสหรัฐอเมริกาอีกทีม ได้เผยแพร่ผลการศึกษาใน European Heart Journal เมื่อปลายพ.ค.ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่า หลังจากติดเชื้อไป ไม่ว่าจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง ก็อาจส่งผลให้เกิดการไหลเวียนเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติได้
นอกจากนี้ทีมจากออสเตรเลีย เผยผลการศึกษาใน Science Advances วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าไวรัสโควิด-19 นั้นสามารถติดเชื้อในเซลล์สมองและนำไปสู่การทำงานผิดปกติได้ (ภาพที่ 5-6)
...สถานการณ์ไทยเรา ยังมีติดเชื้อแต่ละวันจำนวนมาก
ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ
ไม่กินดื่มใกล้ชิดร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน
เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง คือหัวใจสำคัญ
อ้างอิง
1. Geographic and Temporal Trends in COVID-Associated Acute Kidney Injury in the National COVID Cohort Collaborative. CJASN. 3 May 2023.
2. Coronary microvascular health in symptomatic patients with prior COVID-19 infection: an updated analysis. European Heart Journal. 31 May 2023.
3. SARS-CoV-2 infection and viral fusogens cause neuronal and glial fusion that compromises neuronal activity. Science Advances. 7 June 2023.
ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ภาพจาก TNN ONLINE