สนข.เล็งขยายเครือข่าย เดินเรือ กทม.-ปริมณฑล ถึงรังสิตคลอง 7 ลุย เพิ่มท่าเรือเป็น 277 ท่า
ข่าววันนี้ นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่นๆ ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้นโยบาย สนข. ยกระดับการเดินทางทางน้ำ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดบริการขนส่งทางน้ำในคลองอื่นๆ ที่ขนานกับถนนสายหลัก เพื่อลดปริมาณการจราจรบนถนน เบื้องต้น สนข. จัดทำแผนพัฒนาฯ และนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อผลักดันไปสู่การปฏิบัติต่อไป
โดยแบ่งแผนพัฒนา โครงข่ายการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ออกเป็น 3 ระยะ จำนวน รวม 14 เส้นทางประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2565-2570) จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่
S1 : เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย ช่วงวัดศรีบุญเรือง-ถนนสุวินทวงศ์ (ระยะทาง 12 กิโลเมตร) และเส้นทางเดินเรือในคลองบางลำพู ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ-ป้อมพระสุเมรุ (ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร)
S2 : เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงประตูน้ำมหาสวัสดิ์-วัดชัยพฤกษมาลา (ระยะทาง 28 กิโลเมตร)
S3 : เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกน้อย ช่วงวัดชะลอ-ศิริราช (ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร)
S4 : เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหม-พระโขนง (ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร)
S5 : เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงวัดรังสิต-บางซื่อ (ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร)
สำหรับระยะกลาง (พ.ศ. 2571-2575) จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่
M1 : เส้นทางเดินเรือในคลองประเวศบุรีรมย์ส่วนต่อขยาย ช่วงตลาดเอี่ยมสมบัติ-วัดสังฆราชา (ระยะทาง 21.4 กิโลเมตร)
M2 : เส้นทางเดินเรือในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ช่วงตลาดรังสิต-โลตัสคลอง 7 (ระยะทาง 18 กิโลเมตร)
M3 : เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าวส่วนต่อขยาย (คลองสอง) ช่วงถนนสายไหม-คูคต ถึงประตูน้ำคลองสอง (ระยะทาง 8.5 กิโลเมตร)
M4 : เส้นทางเดินเรือในคลองภาษีเจริญส่วนต่อขยาย ช่วงถนนเพชรเกษม69-ประตูน้ำกระทุ่มแบน (ระยะทาง 16.5 กิโลเมตร)
M5 : เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยาย ช่วงปากเกร็ด-ที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี (ระยะทาง 15 กิโลเมตร)
ส่วนแผนระยะยาว (พ.ศ. 2576-2585) จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่
L1 : เส้นทางเดินเรือในคลองอ้อมนนท์ ช่วงวัดโตนด-แยกคลองบางกรวย (ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร)
L2 : เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกใหญ่ ช่วงแยกคลองบางขุนศรี-วัดกัลยาณมิตร (ระยะทาง 6.2 กิโลเมตร)
L3 : เส้นทางเดินเรือในคลองมอญ ช่วงถนนอรุณอัมรินทร์-แยกคลองบางขุนศรี (ระยะทาง 3 กิโลเมตร)
L4 : เส้นทางเดินเรือในคลองชักพระ ช่วงถนนบางขุนนนท์-ถนนจรัญสนิทวงศ์ 25 (ระยะทาง 5.2 กิโลเมตร)
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงสภาพทางกายภาพของคลอง เช่น การขุดลอกคลอง การจัดทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง การปรับปรุงท่าเรือ การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือ และการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่นเพื่อเพิ่มความสะดวกและเป็นทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชน
“หากดำเนินงานตามแผนพัฒนาฯ จะสามารถเพิ่มความยาวโครงข่ายการเดินทางทางน้ำ จาก 77 กิโลเมตรในปัจจุบัน เป็น 285 กิโลเมตร จำนวนเส้นทางเดินเรือ เพิ่มขึ้นจาก 5 เส้นทางในปัจจุบัน เป็น 14 เส้นทาง จำนวนท่าเรือ เพิ่มขึ้นจาก 118 ท่า ในปัจจุบัน เป็น 277 ท่า จำนวนจุดเชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ เพิ่มขึ้น เป็น 45 จุด ในอนาคต และปริมาณผู้โดยสารทางน้ำ เพิ่มขึ้นจาก 193,000 คนต่อวัน เป็น 354,000 คนต่อวัน”