ธปท.จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยงกระทบระบบการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2567 โดยระบุว่าที่ผ่านมา ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถสนับสนุนกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริง
สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) และสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยรวมยังมีฐานะการเงินเข้มแข็งแม้คุณภาพหนี้ด้อยลง
นอกจากนี้ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปรับลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงการลดหนี้ (deleverage) ที่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ในรายงานระบุว่า ท่ามกลางแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคการเงินที่อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ อาทิ นโยบายการค้าและนโยบายภาษีของประเทศต่าง ๆ ปัญหา
เชิงโครงสร้างของบางภาคธุรกิจ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า ได้แก่
(1) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เปราะบางอาจนำไปสู่การขายสินทรัพย์ที่ทำให้ราคาปรับลดลง โดยหากมีเหตุการณ์ที่นำไปสู่การปรับตัวลงอย่างมากของราคาสินทรัพย์ในต่างประเทศจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและอาจนำไปสู่การเทขายสินทรัพย์จากความตื่นตระหนก อันจะส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างมากได้
(2) ภาวะการเงินที่อาจตึงตัวมากขึ้นและส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯจะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการลงทุน การค้าและการแข่งขันกับสินค้าจีนที่เข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงานและรายได้ครัวเรือน ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนลดลง จะเป็นปัจจัยกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าได้
(3) บริษัทขนาดใหญ่บางรายมีการก่อหนี้ในระดับสูง โดยหากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายการค้าของประเทศต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและการชำระหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่
บางราย อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทมีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจและการเงินสูง
(4) ฐานะการเงินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางรายที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด และมีฐานะการเงินอ่อนแออยู่แล้วในช่วงก่อนหน้า อาจมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงินที่เปราะบางอยู่แล้ว ทำให้ความเสี่ยงในระบบการเงินปรับเพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ดี ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง ได้มีการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจการเงินที่จะมีต่อลูกหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว