รีเซต

เช็ก 5 สัญญาณเตือนป่วยโควิด-19 เสี่ยงอาการรุนแรง ควรนำส่งโรงพยาบาล

เช็ก 5 สัญญาณเตือนป่วยโควิด-19 เสี่ยงอาการรุนแรง ควรนำส่งโรงพยาบาล
TNN ช่อง16
25 มกราคม 2565 ( 15:34 )
107
เช็ก 5 สัญญาณเตือนป่วยโควิด-19 เสี่ยงอาการรุนแรง ควรนำส่งโรงพยาบาล

วันนี้ (25 ม.ค.65) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เปิดเผยถึงแนวปฏิบัติของประชาชนเมื่อสงสัยว่าติดโควิด-19 ต้องทำอย่างไร โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ตรวจพบติดโควิด ต้องทำอย่างไร? 

ผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบว่าขึ้น 2 ขีด ผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิด-19 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องให้ตรวจยืนยันซ้ำด้วย RT-PCR) ให้เข้าสู่ระบบการรักษาตามนี้

- กทม. : โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ก กรุงเทพมหานคร: https://bit.ly/3FBOgvw ) หรือ โทรสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT หรือคลิก https://bit.ly/3Iuw7Si

- ต่างจังหวัด : โทร. Call Center ของจังหวัดหรืออำเภอ (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด) 

ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด หากไม่ทราบหรือไม่สะดวกโทร.ตามรายละเอียดข้างต้น 

1.โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 

หรือ 2.ลงทะเบียนด้วยตนเองที่ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI

หรือ 3. ไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6

• เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19

• เลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) 

 

ไม่พร้อมรักษาตัวที่บ้าน ต้องทำอย่างไร?

นโยบายของรัฐบาลให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่การรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หากสภาพบ้านไม่พร้อม จะเข้าสู่การรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation) 

หลังจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 โทร.แจ้งตามระบบแล้ว จะมีเจ้าหน้าหน้าที่โทร.กลับเพื่อประเมินอาการภายใน 6 ชั่วโมง หากภายใน 6 ชั่วโมงยังไม่มีการติดต่อกลับ ให้โทร.แจ้งที่ สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง 

ทั้งนี้ กรณี โทร.สายด่วน 1330 ไม่ติด เนื่องจากมีประชาชน โทร.เข้ามามาก ไม่ต้องกังวล สปสช.จัดเจ้าหน้าที่โทรกลับสายที่โทรไม่ติดเพื่อรับข้อมูลเข้าระบบ

 

กรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จับคู่กับสถานพยาบาลเพื่อดูแลที่บ้าน 

ท่านจะได้รับการดูแลดังนี้ ติดตามอาการด้วยวิดิโอคอลวันละ 1 ครั้ง, เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว, ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ, ส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ

หากมีอาการเปลี่ยนแปลง แจ้งหน่วยบริการเพื่อขอรับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์, ประสานส่งต่อโรงพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น 

หมายเหตุ บางรายการ เช่น ส่งอาหาร, เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง

 

กรณีมีอาการปานกลาง หรือมีปัจจัยเสี่ยง ส่งรักษาในโรงพยาบาลสนาม, hospitel หรือโรงพยาบาล 

- ตรวจ ATK ที่หน่วยตรวจเชิงรุก หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะมีเจ้าหน้าที่ประเมินอาการและส่งเข้าสู่ระบบการรักษาตามรายละเอียดข้างต้น แต่หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับใน 6 ชั่วโมง ให้ โทร.แจ้งที่ สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง

- ผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 แต่ตรวจ ATK ขึ้นขีดเดียว ผลเป็นลบ แต่ยังมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว ตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลจะนำท่านเข้าสู่กระบวนการรักษาตามขั้นตอน แต่หากไม่ติดเชื้อแต่มีประวัติเสี่ยง (เช่น สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ฯลฯ ให้กักตัวเองและตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วัน) แต่หากไม่มีประวัติเสี่ยง ไม่ต้องกักตัว 

 

- กรณีชาวต่างชาติหรือแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อโควิด-19 

หากมีบัตรประกันสุขภาพที่เคยซื้อไว้ ติดต่อโรงพยาบาลตามสิทธิ หากไม่มีบัตรประกันสุขภาพ โทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 

 

เช็ก 5 สัญญาณเตือน อาการป่วยรุนแรง ควรนำส่งโรงพยาบาล

เกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยจากระบบการรักษาที่บ้านหรือในระบบชุมชน (Home-Community Isolation) เข้าโรงพยาบาล โดยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

1.มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง

2.ระดับออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 94%

3.หายใจมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ (หากหายใจมากกว่า 20 ครั้งต่อนาที ควรติดต่อแพทย์ที่ดูแลท่าน)

4.กลุ่มผู้ป่วย 608 ที่มีความเสี่ยง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่มีอาการเปลี่ยนแปลง

5.ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการข้อ 1 หรือ 2 หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็วเกินเกณฑ์อายุ ซึมลง ดื่มนมหรือกินอาหารได้น้อยลง

แพทย์ที่ดูแลท่านระหว่างรักษาที่บ้านหรือในระบบชุมชนจะเป็นผู้ประเมินอาการท่านเพื่อการส่งต่อเข้าโรงพยาบาลหากมีอาการรุนแรง

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วย 608 คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์

 

 

ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง