รีเซต

นักวิจัยพฤติกรรมสัตว์ต้องตะลึง เมื่อฝูงหมูป่าวางแผนช่วยลูกหมูติดกับสำเร็จ

นักวิจัยพฤติกรรมสัตว์ต้องตะลึง เมื่อฝูงหมูป่าวางแผนช่วยลูกหมูติดกับสำเร็จ
ข่าวสด
5 กันยายน 2564 ( 23:42 )
92

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสาธารณรัฐเช็ก สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ขณะที่หมูป่าฝูงหนึ่งในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Voděradské Bučiny ทางตอนกลางของประเทศ ร่วมกันวางแผนและลงมือทำ "ปฏิบัติการกู้ภัย" จนช่วยเหลือลูกหมูที่ติดอยู่ในกรงกับดักออกมาได้สำเร็จ

 

 

เหตุการณ์น่าทึ่งดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาพฤติกรรมสัตว์อย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ชี้ว่า หมูป่ามีความฉลาดในระดับสูง มีอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนในเชิงเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทั้งยังเป็นหนึ่งในสัตว์ไม่กี่ชนิดที่มีพฤติกรรมช่วยเหลือกันแบบกู้ภัยอีกด้วย

 

ทีมนักวิจัยพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยชีววิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐเช็ก (CZU) ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Scientific Reports ฉบับล่าสุด โดยระบุว่าพวกเขาบันทึกภาพวิดีโอของฝูงหมูป่านี้ได้โดยบังเอิญ ตั้งแต่เดือนมกราคมของปีที่แล้ว ขณะติดตั้งกับดักซึ่งใช้ข้าวโพดล่อหมูป่าให้เข้ามาในกรงขัง เพื่อนำไปศึกษาหาทางป้องกันไข้อหิวาต์สุกรแอฟริกา (ASF)

 

ผลปรากฏว่ามีลูกหมูป่า 2 ตัว เข้ามาติดกับดักดังกล่าวอยู่นานถึงสองชั่วโมงครึ่ง ก่อนที่หมูป่าตัวเมียซึ่งโตเต็มวัยแล้วตัวหนึ่ง จะเดินนำหมูป่าอีก 7 ตัวเข้ามารุมล้อมกรงกับดักนั้น

 

 

หมูป่าตัวเมียซึ่งน่าจะเป็นแม่ของลูกหมูทั้งสอง พุ่งเข้าชนท่อนไม้ที่ขัดปิดประตูกรงกับดักให้เปิดออก โดยมีการพยายามพุ่งเข้าชนหลายครั้ง และหมูป่าตัวอื่น ๆ ก็ช่วยออกแรงชนกระแทกท่อนไม้ด้วย

 

 

ขนแผงคอของหมูป่าตัวเมียตั้งชัน แสดงถึงความรู้สึกกังวลทุกข์ร้อนอย่างชัดเจน แต่มันก็สามารถดันให้ไม้ขัดประตูท่อนแรกหลุดออกได้ในเวลาเพียง 6 นาที ก่อนที่ฝูงหมูป่าจะช่วยกันพุ่งชนจนเอาท่อนไม้ทั้งหมดออกได้สำเร็จ โดยพวกมันใช้เวลาในการช่วยลูกหมูไปทั้งสิ้น 29 นาที

 

ทีมผู้วิจัยเชื่อว่านี่คือหลักฐานที่มีการบันทึกอย่างเป็นรูปธรรมชิ้นแรก ซึ่งยืนยันถึงการที่หมูป่าสามารถมีพฤติกรรมช่วยเหลือกันแบบกู้ภัยได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พบพฤติกรรมดังกล่าวในสัตว์เพียงไม่กี่ชนิด อย่างเช่นหนูและมดเป็นต้น

 

 

"พฤติกรรมการกู้ภัยในสัตว์ ถือว่าเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจที่ละเอียดอ่อน ซึ่งอาจไม่ต่างไปจากมนุษย์มากนัก โดยในกรณีของหมูป่าที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์แบบซับซ้อน และมีระบบความสัมพันธ์ทางสังคมในกลุ่มชัดเจน ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พวกมันสามารถทำได้ถึงขนาดนี้" ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง