หมึกยักษ์รวมกลุ่มล่าเหยื่อ หากสมาชิกไม่ช่วยงานก็ใช้หนวดต่อยเพื่อลงโทษด้วย
การศึกษาพฤติกรรมสัตว์ล่าสุดนำโดยนักนิเวศวิทยาพฤติกรรมชื่อ เอดูอาร์โด้ ซัมปายโอ (Eduardo Sampaio) จากสถาบันวิจัย แม็ก พลังค์ (Max Planck Institutes) ประเทศเยอรมนีฃ เปิดเผยให้เห็นพฤติกรรมเหมือนกับที่เห็นในการ์ตูนแอนิเมชัน เมื่อปลาหลากหลายสปีชีส์ รวมกลุ่มกันเพื่อล่าหาอาหาร โดยมีหมึกยักษ์เป็นเหมือนผู้นำกลุ่ม ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อสมาชิกในกลุ่มทำตัวไม่ดี หรือไม่ค่อยช่วยงาน หมึกยักษ์ก็ใช้หนวดต่อยหน้าเพื่อเป็นการลงโทษด้วย
ทั้งนี้การศึกษาก่อนหน้าทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าหมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่ฉลาด แต่ว่าโดยทั่วไปแล้วจะเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ตัวเดียว ยกเว้นช่วงเวลาที่ต้องการผสมพันธุ์ จึงจะเผชิญหน้ากับเพื่อนร่วมสปีชีส์เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์พบว่าหมึกยักษ์อาจจะรวมกลุ่มกับปลาสปีชีส์อื่น ๆ เพื่อช่วยกันล่าเหยื่อ นี่เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้ในสถานที่หลายแห่งทั่วโลก
โดยงานวิจัยล่าสุดจากสถาบันวิจัยแม็ก พลังค์ ได้ติดตามพฤติกรรมการรวมกลุ่มต่างสปีชีส์เพื่อช่วยกันล่าเหยื่อของสัตว์ 13 กลุ่ม นักวิจัยดำน้ำเพื่อติดตามพฤติกรรมสัตว์นาน 120 ชั่วโมง จากนั้นนำวิดีโอที่ได้มาวิเคราะห์ พบว่าสัตว์สปีชีส์ต่าง ๆ มีทักษะเฉพาะตัวที่จะช่วยกลุ่มล่าเหยื่อ เช่น วงศ์ปลาแพะ (Goatfish) จะทำหน้าที่ลาดตระเวน ค้นหาเหยื่อและนำกลุ่มไปยังพื้นที่ที่น่าจะมีเหยื่อ
ส่วนหมึกยักษ์สีน้ำเงิน (Big Blue Octopus) จะเป็นตัวกำหนดว่าจะเริ่มลงมือล่าเมื่อใด เมื่อปลาลาดตระเวนกลับมาแจ้งข่าวแล้ว หมึกยักษ์ก็จะตรงไปยังพื้นที่ดังกล่าว จากนั้นใช้หนวดซอกซอนเข้าไปสำรวจในร่องที่ทีมลาดตระเวนเข้าถึงไม่ได้ เหยื่อจะถูกไล่ออกมา และสมาชิกในกลุ่มก็จะจับกิน ด้วยวิธีการนี้ปลาที่เป็นสมาชิกจะเข้าถึงเหยื่อที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะที่หมึกยักษ์ก็ประหยัดเวลาและพลังงานในการหาเหยื่อเนื่องจากสามารถมุ่งหน้าไปที่แหล่งอาหารได้ทันที ในขณะเดียวกันหมึกยักษ์ก็เป็นตัวควบคุมกลุ่ม แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของความร่วมมือของสัตว์ต่างสปีชีส์กันนี้
นักวิจัยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การแบ่งอาหารไม่ใช่จับตัวไหนได้แล้วเอามาตัดแบ่งกัน แต่สมาชิกตัวไหนที่จับเหยื่อได้ ก็จะเป็นผู้ที่ได้กินอาหารไป นักวิจัยพบว่าการรวมกลุ่มกันล่านี้ ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการจับสัตว์จำพวกกุ้ง ปลา และหอยได้
การศึกษานี้ยังพบว่า หมึกยักษ์จะใช้หนวดพุ่งต่อยไปยังสมาชิกในทีมที่ไม่ค่อยช่วยเหลือเพื่อเป็นการลงโทษ ซึ่งในการศึกษานี้พบว่าปลาที่โดนลงโทษบ่อยที่สุดคือ ปลากะรังบั้ง (Blacktip Grouper) โดยปลากะรังบั้งจะไม่ค่อยมีบทบาทในการล่าเหยื่อ แต่จะว่ายน้ำวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ รอฉวยโอกาสจับเหยื่อมากิน นักวิจัยอธิบายว่า พฤติกรรมดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าหมึกยักษ์มีพฤติกรรมที่ยืดหยุ่น มีความสามารถทางสังคมและการรับรู้ สามารถใช้ข้อมูลมาตัดสินใจการกระทำได้ รู้ว่าเมื่อไหร่จะเปลี่ยนกลยุทธ์การล่า รวมถึงจะชกใครและจะชกเมื่อใด
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2024 โดยผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ก็จะทำให้มนุษย์เข้าใจเรื่องความเป็นผู้นำ ความเป็นสังคม และความสามารถในการปรับตัวด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
ที่มาข้อมูล PopSci, ScienceAlert, Nature Ecology & Evolution
ที่มารูปภาพ Nature Ecology & Evolution