รีเซต

'อานันท์' ถาม 'ประยุทธ์' ได้ยินเสียงม็อบไหม ชี้ลาออกหรือไม่เป็นสิทธิ แนะโละทิ้ง 250 ส.ว.

'อานันท์' ถาม 'ประยุทธ์' ได้ยินเสียงม็อบไหม ชี้ลาออกหรือไม่เป็นสิทธิ แนะโละทิ้ง 250 ส.ว.
มติชน
29 ตุลาคม 2563 ( 20:45 )
317

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่โรงแรมแมริออท สุขุมวิทพาร์ค มีการจัดเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 13 “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร” โดยภาคีโคแฟค ประเทศไทย (Cofac) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น มูลนิธิฟรีดิช เนามัน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้หลายคนเข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองเราอยู่ในภาวะวิกฤต แต่คนในรุ่นตนมองว่าไม่ได้ผิดปกติ เพราะเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้งในระยะ 88 ปี ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันปัญหาของเมืองไทยเป็นปัญหาที่เรียกว่าเป็นการเมืองเหมือนที่เคยมีในอดีต พอมีปัญหาทางการเมืองทำไปทำมาสู้รบกันเสร็จ ก็มีรัฐประหาร จากนั้นเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พอเขียนเสร็จก็เลือกตั้งและตั้งรัฐบาล

 

นายอานันท์ กล่าวว่า ต่อมาอีก 7-8 ปี ก็วนเวียนกลับมา มันไม่พ้นวงจรนี้ เพราะสิ่งที่เราทำในอดีต 88 ปี ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาลหรือมีนโยบายต่างๆ เป็นเรื่องของการมองผลในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้มองประเด็นถึงแก่นราก มองประเด็นแต่เพียงผิวเผิน จึงไม่รู้ว่าเหตุที่ทำให้เกิดประเด็นนี้มันมาจากอะไร ดังนั้น ทางออกที่ผ่านมาในอดีตเป็นทางออกระยะสั้น เหมือนอย่างที่เมืองไทยต้องการความสงบเรียบร้อย ซึ่งต้องเป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่ได้มาจากเบื้องบนและไม่ได้มาจากเบื้องล่าง แต่เป็นความสงบที่ทุกฝ่ายพูดคุยกันแล้วยอมรับ

 

นายอานันท์กล่าวต่อว่า ตนพูดได้เลยว่า อันนี้เป็นข้อขัดแย้งระหว่างคนละรุ่น ซึ่งการใช้อินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจเกิดขึ้น ไม่เหมือนพูดคุยกันต่อหน้า ดังนั้น ต้องเปิดกว้างและรับฟังกันให้มาก สรุปแล้วตนคิดว่าปัญหาของทุกประเทศเป็นเรื่องที่น่าวิตกในเรื่องการสื่อสารสมัยใหม่ จึงเกิดเฟคนิวส์ต่างๆ ขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ต้องฟังและพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมด้วย และความรุนแรงทางวาจาหรือเฮทสปีช จะทำให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพทันที

 

จากนั้น นายอานันท์ตอบคำถามผู้ร่วมสัมมนาเกี่ยวกับประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญว่า การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราต้องวางหลักเกณฑ์ว่าควรให้สั้น ไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป และต้องดูมาตราที่สร้างปัญหา ที่มีปัญหาแน่นอนคือการแต่งตั้ง 250 ส.ว. และให้อำนาจตั้งนายกฯ อันนี้ต้องออกไปแน่ๆ เป็นประเด็นทำให้เกิดการเดินขบวน เป็นสิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าอย่างตนอยากเห็นว่าไม่มีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป รวมทั้งมาตรา 112 คุณจะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่เป็นคดีอาญา คือไม่มีการลงโทษ และเป็นคดีแพ่ง มีค่าปรับเท่านั้น และไม่ใช่ปรับในอัตราที่สูงเกินไป ต้องวางหลักเกณฑ์แน่นอนว่าอยากเห็นอะไร อีกหลายมาตราก็ต้องปรับปรุงกันไป

 

“อีกเรื่องที่จะเป็นปัญหา ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะพูดว่าจะทำหรือไม่ทำ เด็กยืนยันว่านายกฯเป็นตัวปัญหา คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯเป็นคนเดียวที่ปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีลาออกหรือไม่ ผมไม่รู้ ถ้าไม่ลาออก ผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นสิทธิของท่าน แต่ต้องรู้ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น ท่านฟังหรือได้ยินหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าเกิดจะเถียงกับเด็กรุ่นใหม่ โดยอ้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไม่ไปไม่ถึงไหน เพราะเริ่มต้นผิดมาตลอดแล้ว ผิดมา 7 ปีแล้ว คุณอาจจะไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่าง แต่พยายามเข้าใจ

 

“ผมก็พยายามเข้าใจสถานะของนายกฯ สถานะของรัฐบาลเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจกันก็ต้องคุยกัน ผมไม่สนใจจะเข้าไปร่วมด้วยทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเริ่มต้นก็ผิดแล้ว เด็กมันเริ่มต้นมาตั้ง 7 ปีแล้ว นายกฯถามว่าผมทำอะไรผิด เป็นการพูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล แต่รัฐบาลยังพูดภาษาแอนาล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง ไม่เคยเจอกันและพูดกันคนละประเด็น ผมเห็นว่าสังคมโลกเขาพูดกันว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ถ้าไม่มีความยุติธรรม และคุณจะไม่มีความยุติธรรมถ้าคุณไม่มีความจริงใจระหว่างกัน” นายอานันท์กล่าว

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง