รีเซต

จนท. เดินหน้าค้นหา ‘วาฬโอมูระเผือก’ พบ 4 ตัว แต่ไม่ใช่สีขาว

จนท. เดินหน้าค้นหา ‘วาฬโอมูระเผือก’ พบ 4 ตัว แต่ไม่ใช่สีขาว
TNN ช่อง16
9 มกราคม 2567 ( 15:13 )
50
จนท. เดินหน้าค้นหา ‘วาฬโอมูระเผือก’ พบ 4 ตัว แต่ไม่ใช่สีขาว

วันนี้ ( 9 ม.ค. 66 )เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ยังคงค้นหาตัว ‘วาฬโอมูระเผือก’  บริเวณทะเลกระบี่ต่อเนื่อง โดยใช้โดรนบินค้นหา สำรวจ ส่องกล้องทางไกล ได้พบวาฬโอมูระ 1 ตัวแต่ไม่ใช่เผือกหากินบริเวณ หมู่เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ แต่วาฬเคลื่อนไหวรวดเร็ว ดำน้ำหายไป ไม่สามารถบันทึกภาพไว้ได้ 


นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เปิดเผยว่า จากการค้าหา ตลอดสามวันที่ผ่านมา  เจอวาฬโอมูระ 3 ครั้ง โดยพบที่ฝั่งตะวันตกของเกาะพีพี 1 ตัว และพบระหว่างไม้ท่อนเกาะเฮ จ.ภูเก็ต  1 ตัว ครั้งที่ 3 พบข้างเกาะเฮ รวมจำนวน 4 ตัว  ซึ่งไม่ใช่ ‘วาฬโอมูระเผือก’ ที่ตามหา 


ภารกิจการสำรวจวาฬโอมูระเผือกสำคัญ เป็นเรื่องตื่นเต้นที่มีการพบวาฬโอมูระเผือก เพราะมีความโดดเด่น แปลกตา ซึ่งอาจเป็นเรื่องดีที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องของวาฬและการอนุรักษ์มากขึ้น แต่ในเชิงชีววิทยาการพบลักษณะเผือก เป็นสิ่งไม่ดีนักเนื่องจากเป็นการแสดงออกของยีนด้อย มีผลทำให้การสร้าง Melanin น้อยกว่าปกติหรือสร้างไม่ได้เลย ลักษณะเผือกมักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกับสัตว์ เช่น ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดมากขึ้น มีปัญหาเรื่องการมองเห็น และเป็นจุดสนใจของผู้ล่า 


ภาวะเผือกสามารถพบได้ทั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ในกลุ่มโลมาและวาฬ มีรายงานยืนยันภาวะเผือก เช่น วาฬหลังค่อม (Megaptera novaeangliae) ที่ออสเตรเลีย วาฬหัวทุย (Physeter macrocephalus) ที่โปรตุเกส วาฬเพชฌฆาต (Orcinus orca) ที่รัสเซีย และวาฬริสโซ่ (Grampus griseus) ที่อเมริกา 


‘วาฬโอมูระ’ได้รับขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน เนื่องจากจำนวนประชากรในประเทศไทยน้อยกว่า 50 ตัว และเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่พบแพร่กระจายเฉพาะในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อดูจากแผนที่การแพร่กระจายและภูมิศาสตร์ กลุ่มวาฬโอมูระฝั่งทะเลอันดามันมีแนวโน้มแยกตัวจากกลุ่มประชากรหลักทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้เชื่อว่าประชากรวาฬโอมูระฝั่งอันดามัน มีจำนวนประชากรน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการผสมกันเองมากขึ้น ส่งผลต่อการเกิดสภาวะเผือก ทำให้การอนุรักษ์มีความยากและท้าทายมากในการรักษากลุ่มประชากรโอมูระเฉพาะถิ่นฝั่งทะเลอันดามัน


ข้อมูลจาก: กรมอุทยานแห่งชาติ และสัตว์ป่า

ภาพจากกรมอุทยานแห่งชาติ และสัตว์ป่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง