จีนเตรียมสร้างอิฐจากดินดวงจันทร์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
ในแผนการสำรวจดวงจันทร์ของประเทศจีนได้มีการวางแผนที่จะสร้างอิฐจากดินดวงจันทร์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในทศวรรษนี้เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างถิ่นที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์หรือสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station) ของประเทศจีน อันมีแผนก่อสร้างในช่วงปี 2030
โดยภารกิจที่จะทำการนำดินดวงจันทร์กลับมาสำหรับการสร้างอิฐคือภารกิจฉางเอ๋อ 8 (Chang'e 8 Mission) ที่จะลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ภายในปี 2028
หุ่นยนต์แมลงที่จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station)
นอกจากนี้ ดิง ลียุน (Ding Lieyun) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง (Huazhong University of Science and Technology) ยังได้กล่าวถึงหุ่นยนต์ 6 ขา มีลักษณะคล้ายแมลงที่ชื่อว่าซูเปอร์ เมสัน (Super Mason) ซึ่งจะทำหน้าที่นำอิฐไปเรียงต่อกันขณะอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์
อย่างไรก็ตาม จีนไม่ใช่ชาติแรกที่พยายามนำเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาใช้ในอุตสาหกรรมอวกาศ โดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA) เองก็กำลังพยายามจะสร้างก้อนอิฐจากดินดวงจันทร์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เช่นกันและยังมีแผนของบริษัท แอร์บัส (Airbus) ที่เตรียมจะส่งเครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติ ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
การพัฒนาภารกิจฉางเอ๋อ (Chang'e Mission) รุ่นต่อไป
ในขณะนี้ ประเทศจีนกำลังเตรียมการสำหรับส่งภารกิจฉางเอ๋อ 6 (Chang'e 6 Mission) เพื่อไปเก็บตัวอย่างของพื้นผิวดวงจันทร์จากด้านมืดภายในปี 2025 และจะมีการส่งภารกิจฉางเอ๋อ 7 (Chang'e 7 Mission) อีกครั้งในปี 2026 เพื่อไปค้นหาน้ำแข็งที่เป็นน้ำในหลุมอุกกาบาต โดยสุดท้ายจะส่งภารกิจฉางเอ๋อ 8 ซึ่งจะวางรากฐานให้กับสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติของประเทศจีน
ข้อมูลจาก Space.com
ภาพจาก CNSA