รีเซต

โลกกำลังจมน้ำ นักวิทย์ฯชี้ “มหาอุทกภัย” กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติ

โลกกำลังจมน้ำ  นักวิทย์ฯชี้ “มหาอุทกภัย”   กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติ
TNN ช่อง16
9 กรกฎาคม 2568 ( 11:00 )
5

แม้น้ำท่วมจะไม่ใช่ภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตโดยตรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภัยจากอากาศร้อนจัดหรือมลพิษทางอากาศ แต่สถิติชี้ชัดว่า มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมหลายพันคนต่อปี ที่สำคัญคือผลกระทบหลังน้ำลด เช่น พืชผลเสียหาย โรคระบาด และการขาดแคลนทรัพยากร ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ในปี 2024 เพียงปีเดียว น้ำท่วมได้บีบบังคับให้ผู้คนกว่า 19 ล้านคนต้องอพยพ ทั่วโลก ตัวเลขที่เทียบเท่ากับประชากรทั้งประเทศโซมาเลีย หรือรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ

คำถามว่าทำไมน้ำท่วมถึงรุนแรงขึ้น? ปัจจัยหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เพราะอากาศที่อุ่นขึ้นสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้นราว 7% ต่อทุก ๆ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1°C ทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนัก เมฆจะปล่อยน้ำในปริมาณมหาศาลลงมาในคราวเดียว ยิ่งไปกว่านั้น สภาพดินที่แห้งจากภาวะแห้งแล้งก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ เพราะดินแข็งกระด้างไม่สามารถดูดซับน้ำได้ ทำให้ปริมาณน้ำฝนไหลบ่าลงพื้นที่ต่ำอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นน้ำท่วมฉับพลัน


นอกจากน้ำฝนแล้ว ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากโลกร้อนยังทำให้เกิดน้ำท่วมชายฝั่งบ่อยและรุนแรงขึ้น รายงานจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า ภายในปี 2100 น้ำทะเลหนุนสูงที่เคยเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้งในรอบ 100 ปี จะกลายเป็นเหตุการณ์ประจำปีในพื้นที่ชายฝั่งส่วนใหญ่ทั่วโลก แม้ในกรณีที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงตามเป้า

น้ำท่วมไม่ได้ทำลายแค่ชีวิต แต่ยังทำลายโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สะพาน ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ทำงาน ตัวอย่างเช่น น้ำท่วมใหญ่ในประเทศสโลวีเนียเมื่อปี 2023 ทำความเสียหายกว่า 10,000 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 390,000 ล้านบาท หรือ 16% ของ GDP ประเทศ และในสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว คาดว่าน้ำท่วมสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงสุดถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี คิดเป็นราว 18 ล้านล้านบาท ต่อปี

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยลดความสูญเสียจากน้ำท่วมคือ “ระบบเตือนภัยล่วงหน้า” ที่สามารถแจ้งประชาชนให้อพยพก่อนน้ำมา โดยระบบเหล่านี้เห็นผลมากในประเทศรายได้ปานกลาง แต่ยังต้องพัฒนาอีกมากในประเทศยากจน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางกายภาพ เช่น สร้างเขื่อนกั้นน้ำ พื้นที่รับน้ำหรือบ่อพักน้ำ พื้นที่สีเขียวในเมืองเพื่อดูดซับน้ำฝน หรือกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายฝั่ง แต่ นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า มาตรการเหล่านี้มีขีดจำกัด เมื่อโลกยังคงร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทางออกในระยะยาวอาจต้องใช้วิธีที่เรียกว่า "การถอนตัวอย่างเป็นระบบ (Managed Retreat)" ซึ่งหมายถึง การย้ายถิ่นฐานถาวรจากพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งบางชุมชนทั่วโลกได้เริ่มดำเนินการแล้ว และในบางกรณีอาจหมายถึงการละทิ้งเมือง หรือแม้แต่ประเทศทั้งประเทศ เช่น หมู่เกาะขนาดเล็กที่กำลังจมอยู่ใต้ทะเล

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง