เปิดวิธีสังเกต “แบงก์ปลอม” ให้ดูจุดนี้รู้ทันทีของจริง-ของเก๊
วันนี้ ( 25 ต.ค. 65 )สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะวิธีสังเกตธนบัตรใบละ 1,000 บาท เบื้องต้นว่าปลอมหรือไม่ โดยให้ดูที่ "แถบสีทอง" ที่ฝังไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้งของธนบัตร ในมุมปกติจะมองเห็นเป็นเส้นประ แต่เมื่อส่องกับแสงจะเห็นเป็นเส้นตรงและมีข้อความ "1000 บาท 1000 BAHT" เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว และลวดลายในแถบจะกลิ้งเคลื่อนไหวไปมาได้ แถบสีอาจมีรอยขูดขีด หลุดลอกชำรุดจากการใช้งานได้
สำหรับโทษฐานปลอมหรือแปลงธนบัตร ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 ถึง 400,000 บาท
ส่วนผู้ใช้ ธนบัตรปลอม ในการซื้อสินค้าและบริการ เป็นการกระทำที่ผิดตามกฎหมาย โดยแบ่งความผิดตามเจตนาของผู้ใช้ดังนี้ 1.ได้ธนบัตรปลอมมาโดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม แต่ต่อมาเมื่อรู้ว่าเป็นของปลอมแล้วยังขืนนำออกไปซื้อสินค้าและบริการต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245 2.การมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อใช้โดยที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 30,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244
ทั้งนี้ หากพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลจาก : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ภาพจาก : AFP