รีเซต

ศาลปค.สูงสุดชี้ช่อง 3 โฆษณาเกินเวลากม.กำหนดจริง เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค

ศาลปค.สูงสุดชี้ช่อง 3 โฆษณาเกินเวลากม.กำหนดจริง เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค
มติชน
12 มกราคม 2565 ( 16:30 )
244

ศาลปค.สูงสุดชี้ช่อง 3 โฆษณาเกินเวลากม.กำหนดจริง เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค พิพากษากลับเป็นยกฟ้องปมช่อง 3 ขอเพิกถอนคำสั่งกสทช.ที่ให้ระงับการโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคช่วงปี57

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 65 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นยกฟ้องในคดีที่บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) คณะกรรมการกสทช คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3กรณี ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนหนังสือของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่สมช.4007/19430เรื่องขอให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ลงวันที่ 19พ.ค. 59

โดยเหตุที่ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องเห็นว่า การที่มาตรา 23 พ.ร.บการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ประกอบกับข้อ 5(8)ของประกาศกสทช.เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2555 ที่บัญญัติให้จำกัดเวลาโฆษณาในการออกอากาศรายการที่

มีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญจากการที่มีโฆษณามากเกินสมควรกฎหมายจึงกำหนดให้การออกอากาศรายการที่มีการโฆษณาบริการหรือสินค้าให้มีเวลาในการโฆษณาบริการหรือสินค้าสูงสุดต่อวันไว้ว่า เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาทีหรือไม่เกิน 240 นาทีต่อวันสำหรับแต่ละช่วงเวลาของวันนั้น

มีเจตนาที่จะไม่ให้ประชาชนต้องดูโฆษณาที่บ่อยหรือถี่เกินไป กฎหมายจึงกำหนดให้การออกอากาศรายการที่มีการโฆษณาบริการหรือสินค้าให้มีเวลาโฆษณาไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง และไม่อาจนับระยะเวลาการออกอากาศทั้งหมดของแต่ละรายการแล้วนำมาคำนวณเป็นเวลาที่สามารถโฆษณาได้ เนื่องจากอาจทำให้บางชั่วโมงของรายการมีโฆษณาบ่อยหรือถี่เกินกว่าชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่งซึ่งจะขัดต่อกฎหมาย จึงต้องนับเวลาโฆษณาในแต่ละชั่วโมงๆไปเป็นลำดับ

สำหรับการตั้งต้นนับเวลาโฆษณานั้นหากนับเวลาตั้งแต่เวลาตั้งต้นของชั่วโมงจะเกิดภาระแก่ผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดรายการเนื่องจากเวลาเริ่มต้นของแต่ละรายการอาจไม่ตรงกับเวลาเริ่มต้นของชั่วโมงเช่นรายการอาจออกอากาศตั้งแต่เวลา 09.30 -10.30 น หรือ 9.45 -10.45 น หรือบางรายการอาจมีเวลาออกอากาศไม่เต็มชั่วโมงหรือเกินกว่า 1 ชั่วโมงการนับเวลาโฆษณาตั้งแต่เวลาเริ่มต้นของแต่ละรายการจึงมีความเหมาะสมและทำให้ผู้รับใบอนุญาต

ผู้จัดรายการไม่สับสนสามารถบริหารจัดการเวลาโฆษณาได้ถูกต้องมากกว่าอีกทั้งหากใช้วิธีเริ่มนับเวลาโฆษณาตั้งแต่เวลาเริ่มต้นของชั่วโมงก็อาจมีผลทำให้บางรายการสามารถโฆษณาด้วยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยผู้รับใบอนุญาตสามารถใช้วิธีลดเวลาโฆษณาของรายการอื่นซึ่งออกอากาศในชั่วโมงเดียวกันได้ การนับเวลาโฆษณาตั้งแต่เวลาเริ่มต้นของแต่ละรายการจึงมีความเหมาะสมเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดรายการสมเจตนารมณ์ของกฎหมาย

คดีนี้เมื่อนับเวลาโฆษณาตั้งแต่เวลาเริ่มต้นของแต่ละรายการที่กสทช.กล่าวอ้างว่าได้รับการร้องเรียนว่ามีการโฆษณาเกินกฎหมายกำหนดปรากฏว่าในวันที่ 19,22,23,24 ส.ค.2557 ในทุกรายการมีบางช่วงเวลาของรายการที่มีระยะเวลาโฆษณาเกินกว่าชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่งตามที่กำหนดในมาตรา 23พ.ร.บการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551

การกระทำของสถานีโทรทัศน์ของผู้ฟ้องคดีจึงย่อมเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญตามมาตรา 31 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์2553และข้อ5(8)ของประกาศกสทช.เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2555 ซึ่งกสทช.มีอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศดังกล่าวสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าวได้ มติกสทช.ในการประชุมครั้งที่ 12/2559 เมื่อวันที่ 20 เม.ย.59ที่ให้ผู้ฟ้องคดีระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรทัศน์จึงเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้อัตราค่าปรับทางปกครองที่กสทช.กำหนด 1 ล้านบาทและปรับอีกวันละ 50,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเป็นจำนวนค่าปรับที่ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 77 พ.ร.บ.ดังกล่าวและข้อ 9 ของประกาศกสทช ดังนั้นมติกสทชในการประชุมครั้งที่ 12/2 559 เมื่อวันที่ 20 เม.ย 59 ให้ผู้ฟ้องคดีระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคกรณีโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหากฝ่าฝืนจะดำเนินการปรับทางปกครองตามหนังสือสำนักงานกสทช.ลงวันที่ 19 พ.ค 59

จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนมติของกสทช.ในการประชุมครั้งที่ 12/2559 เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 59 เรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบระยะเวลาการออกอากาศโฆษณาของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3ที่ให้ผู้ฟ้องคดีระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ดังกล่าวโดยดำเนินการแก้ไขปรับปรุง เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายทันที

หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ปรับทางปกครองจำนวน 1 ล้านบาทและปรับอีกวันละ 50,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทั้งนี้ให้มีผลนับแต่วันที่กสทช. มีมตินั้นศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับเป็นยกฟ้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง