รีเซต

ข่าวดี! ค้นพบจุดอ่อน "โควิด" ความหวังพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ในอนาคต

ข่าวดี! ค้นพบจุดอ่อน "โควิด" ความหวังพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ในอนาคต
TNN ช่อง16
22 มกราคม 2567 ( 12:57 )
32
ข่าวดี! ค้นพบจุดอ่อน "โควิด" ความหวังพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ในอนาคต

ศูนย์จีโนมฯ เผยข่าวดี นักวิทยาศาสตร์ค้นพบจุดอ่อนของ "ไวรัสโควิด" สามารถใช้พัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ในอนาคตได้


ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบจุดอ่อนของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน หรือทั้งสองอย่าง หากเกิดติดเชื้อซ้ำ (breakthrough infection) ในอนาคตด้วยโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่จะมีอาการ “ไม่รุนแรง”


จุดอ่อนดังกล่าวยังสามารถใช้พัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ในอนาคต (The "Achilles' heels" of COVID-19 have been identified) 


โรคโควิด-19 มีการระบาดมาอย่างต่อเนื่องถึง 4 ปี มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 7 ล้านคน เริ่มพบการระบาดของไวรัส SARS-CoV-2 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2567 แต่เรายังไม่สามารถกำจัดไวรัสโคโรนา 2019 ให้หมดไปได้ ตรงข้ามกลับพบว่าโควิด-19 มีการกลายพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สายพันธุ์อู่ฮั่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา โอมิครอนดั้งเดิม BA.1/BA.2 จากนั้นกลายพันธุ์เป็น BA.4/BA.5, XBB, XBB.1.5, และ EG.5.1 ล่าสุดคือ BA.2.86 และ JN.1


โดยสังเกตพบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติหรือเคยได้รับการฉีดวัคซีนหรือทั้งสองอย่างมาก่อนหน้า ยังสามารถติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ซ้ำได้อีก (breakthrough infection) แต่การติดเชื้อกลับไม่มีอาการรุนแรง ไม่ต่างไปจากการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1/BA.2) ถึงแม้ว่าโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ เช่น BA.2.86, JN.1 จะมีการกลายพันธุ์ส่วนหนามที่ใช้ยึดเกาะกับเซลล์และเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1/BA.2) ถึงกว่า 30 ตำแหน่งก็ตาม


ทีมนักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้นำโดยศาสตราจารย์ ชิน อึยชอล (SHIN Eui-Cheol) จากศูนย์วิจัยไวรัสด้านภูมิคุ้มกันวิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (IBS) ประเทศเกาหลีใต้ได้แถลงและตีพิมพ์ผลงานวิจัยล่าสุดลงในวารสาร “Science Immunology” เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 แสดงให้เห็นว่าการที่ร่างกายเราได้ต่อสู้กับการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1/BA.2) ในปี 2565 ทำให้มีการสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันประเภทหนึ่งเรียกว่า “เมมโมรีทีเซลล์ (memory T cell)” ขึ้นมาเพื่อจดจำไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว 


“เมมโมรีทีเซลล์“ จะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเมื่อร่างกายมีการติดเชื้อโอมิครอนดั้งเดิม (BA.1/BA.2) ซ้ำอีกครั้งเพื่อเข้าทำลายเซลล์ติดเชื้อไวรัส แต่ปรากฏว่า เมมโมรีทีเซลล์เหล่านี้ยังมีความสามารถพิเศษในการทำลายเซลล์ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ที่“เมมโมรีทีเซลล์” กลุ่มนี้ไม่เคยพบมาก่อน เช่น BA.4/BA.5, BQ.1, XBB, EG.5.1 และแม้แต่โอมิครอน BA.2.86 และ JN.1 ที่ตรวจพบการระบาดเมื่อเร็ว ๆ นี้! อันแสดงให้เห็นว่า เมมโมรีทีเซลล์สามารถจดจำและเข้าโจมตี “จุดอ่อน” ที่คาดว่าเป็นบริเวณเล็กๆในส่วนหนามที่ “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (conserved region)”มาตั้งแต่โอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม(BA.1/BA.2) จนถึงกลุ่มโอมิครอนสายพันธุ์ล่าสุด JN* ที่คาดว่าจะแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกในปี พ.ศ. 2567 นี้


จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าหลังจากร่างกายเราติดเชื้อโควิด-19 หรือหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาสองระบบ


1. สร้างโปรตีนแอนติบอดี จากบีเซลล์ (B cells) ที่เข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัสป้องกันไม่ให้เซลล์ปอดมีการติดเชื้อ


2. สร้างเมมโมรีทีเซลล์ (Memory T cells) ไม่สามารถป้องกันเซลล์ปอดจากการติดเชื้อได้ แต่ก็สามารถค้นหาและทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้การติดเชื้อไวรัสลุกลามร้ายแรงไปทั่วปอด


แอนติบอดี จากบีเซลล์มีความจำเพาะสูง (narrow spectrum)ต่อไวรัสที่เคยพบเท่านั้น และเสื่อมประสิทธิภาพในการเข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัสอย่างรวดเร็วในเวลา 6-12 เดือน ต่างจากเมมโมรีทีเซลล์ที่มีอายุการทำงานหลายปี และสามารถรับมือไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่จะอุบัติขึ้นในอนาคตได้ด้วย (broad spectrum)


ทีมวิจัยได้เลือกผู้ที่เคยติดเชื้อโอมิครอนดั้งเดิม BA.1/BA.2 ในช่วงต้นปี 2565 เข้าเป็นอาสาสมัครของโครงการวิจัยโดยมีการเจาะเลือดและแยก “เมมโมรีทีเซลล์” มาศึกษาในหลอดทดลอง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ใหม่ เช่น BA.1/BA.2, BA.4/BA.5, XBB, EG.5.1, BA.2.86, JN.1 ฯลฯ


ผลการศึกษาพบว่า “เมมโมรีทีเซลล์” จากอาสาสมัครที่เคยติดเชื้อโอมิครอนดั้งเดิม BA.2 แล้วยังกลับมาติดเชื้อซ้ำ (breakthrough infection) สามารถทำลายไม่เพียงเซลล์ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1/BA.2 แต่ปรากฏว่ายังสามารถทำลายเซลล์ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ BA.4/BA.5, BQ.1, XBB, EG.5.1 และแม้แต่โอมิครอน BA.2.86 และ JN.1 ที่ตรวจพบการระบาดเมื่อเร็ว ๆ นี้!


นอกจากนี้ทีมวิจัยเกาหลียังพบว่า “เมมโมรีทีเซลล์” เข้าโจมตี “จุดอ่อน” (The "Achilles' heels" of SARS-CoV-2) ที่เป็นบริเวณเล็กๆในส่วนของโปรตีนหนามส่งผลให้ประสิทธิภาพของ “เมมโมรีทีเซลล์” ในการทำลายเซลล์ติดเชื้อโอมิครอนครอบคลุมจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1/BA.2) จนถึงโอมิครอนสายพันธุ์ล่าสุดอย่าง JN*อย่างมีนัยสำคัญ (broad spectrum) ผลลัพธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อซ้ำ (breakthrough infection) มีแนวโน้มว่าหากบุคคลนั้นมีการติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ในอนาคตจะมีอาการ “ไม่รุนแรง”


ทีมนักวิทยาศาสตร์เกาหลีได้สรุป จากผลงานวิจัยว่า


1. ร่างกายเรามีการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ในอนาคตผ่าน“เมมโมรีทีเซลล์” ผู้ที่ฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน หรือทั้งสองอย่าง หากเกิดติดเชื้อซ้ำ (breakthrough infection) ในอนาคตด้วยโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่จะมีอาการ “ไม่รุนแรง”


2. การค้นพบจุดอ่อนบริเวณหนามของโอมิครอนสามารถนำไปใช้กับการพัฒนาต่อยอดวัคซีนที่จะกระตุ้น“เมมโมรีทีเซลล์” ให้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อเข้าทำลายเซลล์ติดเชื้อ


อนึ่งคำว่า "ส้นเท้าของอคิลลีส (Achilles’ heel)’ " จะหมายถึงจุดอ่อนหรือช่องโหว่เล็กๆที่ซึ่งหากถูกโจมตีอาจนำไปสู่การล่มสลายระบบใหญ่ที่แข็งแรงทั้งระบบ  คำนี้มีต้นกำเนิดมาจากตำนานเทพเจ้ากรีก หมายถึงจุดอ่อนของวีรบุรุษนักรบชาวกรีกที่ชื่อ “อคิลลีส(Achilles)” ที่เมื่อแรกเกิดถูกแม่จับที่ส้นเท้าและชุปตัวเขาลงในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ “สติกซ์(Styx)” เพื่อให้มีความอยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า อย่างไรก็ตามส่วนส้นเท้าของอคิลลีส ซึ่งเป็นบริเวณนิดเดียวของร่างกายไม่ได้สัมผัสกับน้ำศักดิ์สิทธิ์เพราะมือแม่เขาบังไว้ยังคงเป็นจุดอ่อนเพียงตำแหน่งเดียวที่ศัตรูใช้สังหารอคิลลีส เป็นที่มาของคำอุปมา "จุดอ่อนที่ส้นเท้าของอคิลลีส" อันหมายถึงจุดอ่อนหรือช่องโหว่เล็กๆที่อาจนำไปสู่ความล้มเหลวหรือการล่มสลายของทั้งระบบใหญ่ที่โดยรวมแข็งแกร่ง







ภาพจาก รอยเตอร์ / AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง