เปิดวิธีชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ” เศษฝุ่น “ดาวหางฮัลเลย์ ” ช่วงเวลาไหนดีที่สุด?
จากกระแส “ดาวหางฮัลเลย์” กำลังมาแรงมากในขณะนี้ หลังจากวงดูโอ fellow fellow ได้นำเรื่องราวของดาวหางมาเรียงร้อยเป็นบทเพลงรัก จนโด่งดังในโลกโซเชียล โดยเฉพาะ TikTok ที่ใครหลายคนต่างเลือกขึ้นมาเป็นเพลงประกอบคลิปวิดีโอ สำหรับ “ดาวหางฮัลเลย์ ” จะโคจรมาให้เห็นทุก 75-76 ปี ซึ่งโอกาสจะได้ชมน้อยมากในช่วงเวลาของอายุมนุษย์อย่างเราๆ
อย่างไรก็ตามถึงใครหลายคนอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นดาวหางฮัลเลย์ แต่ว่าในคืนที่ คืน 21 - รุ่งเช้า 22 ตุลาคมนี้ เราสามารถดูปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” ร่องรอยของ ดาวหางฮัลเลย์ เมื่อครั้งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ โดย ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529
แรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กเหล่านั้นเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า
เวลาไหนเหมาะสำหรับการชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ”
เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 21 ตุลาคม เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 22 ตุลาคม บริเวณกลุ่มดาวนายพราน (Orion) อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง หากฟ้าใสไร้ฝน ลุ้นชมความสวยงามได้ทั่วประเทศ
สำหรับฝนดาวตกโอไรออนิดส์ปี 2566 ในคืนดังกล่าว ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 23:30 น. หลังจากนั้นจะไร้แสงจันทร์รบกวนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป อีกทั้งยังตรงกับคืนเสาร์-อาทิตย์พอดี จึงเป็นโอกาสดีที่จะชมฝนดาวตก วิธีการสังเกตที่ดีที่สุดคือมองด้วยตาเปล่า เลือกสถานที่ที่ปราศจากแสงรบกวนหรือห่างจากแสงเมืองให้มากที่สุด จะทำให้เห็นดาวตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แม้ว่าฝนดาวตกโอไรออนิดส์จะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียงประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง แต่ก็เป็นฝนดาวตกที่อยู่บริเวณกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่สังเกตได้ง่าย และมีดาวฤกษ์ที่สว่างเด่นอีกหลายดวงให้ชม อาทิ ดาวบีเทลจุส (สีส้มแดง) ดาวไรเจล (สีฟ้าขาว) รวมถึง ดาวซิริอุส ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าในกลุ่มดาวหมาใหญ่ใกล้ ๆ กัน นอกจากนี้ หากบันทึกภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกในคืนดังกล่าว อาจได้ภาพของดาวตกที่เคียงคู่ดวงดาวที่สวยงามอันดับต้น ๆ ของท้องฟ้าก็เป็นได้
ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน ของทุกปี เพราะฉะนั้นเราสามารถรอชมความสวยงามได้ทุกปี แต่หากเป็น ดาวหางฮัลเลย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกนี้ จากการคำนวณคาดว่าดาวหางจะโคจรเฉียดดวงอาทิตย์อีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2604 ดังนั้น เราน่าจะได้เห็นดาวหางกันอีกครั้งในอีก 38 ปีข้างหน้า
ข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ