รีเซต

ทภ.3 ระดมอากาศยานขนน้ำดับไฟป่า เผย ไทยส่งจ.ม.ถึงเลขาอาเซียน เตือนเพื่อนบ้านแล้ว

ทภ.3 ระดมอากาศยานขนน้ำดับไฟป่า เผย ไทยส่งจ.ม.ถึงเลขาอาเซียน เตือนเพื่อนบ้านแล้ว
มติชน
19 มีนาคม 2564 ( 12:56 )
47

ทภ.3 เดินหน้าปิดป่า17จังหวัดภาคเหนือถึงสิ้นเดือน เม.ย.ระดมอากาศยานขนน้ำดับไฟป่า สยบปัญหาหมอกควันเผย กรมควบคุมมลพิษ ส่งจม.ถึงเลขาฯอาเซียน ให้เตือนประเทศเพื่อนบ้าน

 

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหารราช จ.พิษณุโลก พ.อ.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทย ได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและคุณภาพอากาศ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 มาจนถึงปีจจุบัน สถานการณ์จุดความร้อนและค่าคุณภาพอากาศทางภาคเหนือ เริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีปริมาณสูงขึ้น อีกทั้งประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ประกอบกับสภาพอากาศปิดลมสงบนิ่ง จึงส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโดยรวมของพื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมากกองทัพภาคที่ 3 และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาและร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในการลดปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนืออย่างจริงจัง

 

ทั้งนี้ ได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดย กำหนดการปิดป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 61 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน2564 และขอให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการควบคุมไฟป่า และการเผาในพื้นที่โล่งอย่างเข้มงวด รวมทั้งประกาศให้ภาคเหนือตอนบน เป็นพื้นที่ “ห้ามเผาโดยเด็ดขาด” หากมีความจำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่อำเภอ หรือจังหวัดก่อน เพื่อให้มีการเฝ้าระวังและควบคุมเพลิงไม่ให้ลามไปยังพื้นที่ป่า และดับไฟให้เรียบร้อยเมื่อเสร็จภารกิจ นอกจากนั้นเพิ่มการลาดตระเวนพื้นที่เฝ้าระวังและดับไฟ การใช้มาตรการเข้มข้น

 

รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, ลำปาง และตาก ที่มีค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานมากว่า 2 สัปดาห์ พร้อมทั้งดำเนินประสานกับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ อีกทั้งเสริมชุดสนับสนุนในการปฏิบัติภารกิจบริเวณพื้นที่ชายแดน จาก กรมทหารพรานที่ 32, กรมทหารพรานที่ 33 และกรมทหารพรานที่ 35 อีกทั้งได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการดับไฟป่าโดยทันที เมื่อเกิดจุดความร้อน ประกอบด้วย ชุดเหยี่ยวไฟจากสำนักจัดการป่าไม้ รับผิดชอบพื้นที่ป่าสงวน, ชุดเสือไฟ จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ รับผิดชอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์, ชุดรณรงค์สร้างการรับรู้ ของกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 15 ชุดปฏิบัติการ, ประซาชนจิตอาสา ประกอบด้วย จิตอาสาภัยพิบัติท้องถิ่น ตำบลละ 50 นาย, อาสาสมัครป้องกันไฟป่า, ราษฎร์สู่ไฟป่า รวมถึง เครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า ซึ่งทุกชุดปฏิบัติการได้ผ่านการอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม ได้รับการสนับสนุนอากาศยานที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ภูเขาสูงชัน เข้าถึงยากลำบาก ได้แก่1. เครื่องบินใช้งานทั่วไป แบบ U-17จาก กองทัพบก บ.ท.17 (U-17)2. เฮลิคอปเตอร์ AS-350 B2จาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร3.เฮลิคอปเตอร์ AS-350 B2จาก กระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. เฮลิคอปเตอร์ KA – 32จาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งได้ปฏิบัติการทิ้งน้ำดับไฟป่าไปแล้วกว่า 122 เที่ยว ปริมาณน้ำ 256,000 ลิตร  5. อากาศยานไร้คนขับ UAVจาก กองทัพอากาศ 6. โดรน จำนวน 70 ตัว  7. โดรน จำนวน 4 ตัว

 

โฆษกกองทัพภาคที่3 กล่าวอีกว่าสำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน กรมควบคุมมลพิษได้ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้แจ้งเตือนไปยังประเทศดังกล่าว เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนและต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แก้ไขปัญหาโดยต้องประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เกิดจิตสำนึกมีความรักและหวงแหนป่าไม้ในบ้านเกิดรวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประซาชน ตลอดจนต้องมีการวางแผนในให้เป็นระบบแบบแผนตามลำดับขั้นตอนได้อย่างมั่นคงและทันท่วงที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง