รีเซต

เช็กสัญญาณ 'ลองโควิด' หลังติดเชื้อ เป็นอะไรได้บ้าง และภาวะ MIS-C ในเด็ก

เช็กสัญญาณ 'ลองโควิด' หลังติดเชื้อ เป็นอะไรได้บ้าง และภาวะ MIS-C ในเด็ก
มติชน
29 มีนาคม 2565 ( 11:50 )
73
เช็กสัญญาณ 'ลองโควิด' หลังติดเชื้อ เป็นอะไรได้บ้าง และภาวะ MIS-C ในเด็ก

ข่าววันนี้ การป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้กลายเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นกิจวัตรของคนทั่วโลกที่ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน และสวมหน้ากากอนามัย ฯลฯ ด้วยยังไม่มีวิธีป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็น

 

ขณะเดียวกันเชื้อไวรัสก็ได้คร่าผู้คนจำนวนมากจากอาการติดเชื้อ และก็มีอีกจำนวนมากที่ติดเชื้อแล้วรักษาได้หาย ทว่าก็ต้องเผชิญกับ ภาวะลองโควิด (Long Covid) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ดังในหลายกรณีที่รักษาโควิด-19 หายแล้ว แต่เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะลองโควิด

 

แล้วอาการของ ภาวะลองโควิด นั้นมีสัญญาณอย่างไรบ้าง สรุปได้ดังนี้

 

ลองโควิด คืออะไร? 

ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post Covid-19 Syndrome คือ ภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ เชื้อโควิดหายจากร่างกายไปแล้ว แต่บางอาการกลับไม่หายไปด้วย   อาการลองโควิดจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน เป็นอาการที่ไม่มีลักษณะตายตัว สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด

 

ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม

 

ซึ่งอาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง

 

บีบีซี อ้างข้อมูลของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ  (National Health Service: NHS) รายงานว่า Long Covid เป็นอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์ มักพบในผู้ป่วยอายุระหว่าง 35-49 ปี และอายุระหว่าง 50-69 ปี ร้อยละ 20 ผู้ป่วยจะเข้าข่ายนี้ หลังจากรับเชื้อไปแล้ว 5 สัปดาห์

 

ภาวะลองโควิด นี้มีกี่ประเภท สังเกตอาการได้อย่างไร ?

ภาวะ Long COVID ถูกแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งแบ่งแยกตามลักษณะอาการดังนี้

 

1. ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการใหม่ หรืออาการเดิมไม่หายไป (New or ongoing symptoms)

คือการที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 นั้นมีอาการยาวนานต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหลังจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นครั้งแรก มักพบในคนไข้อาการรุนแรงตั้งแต่ต้น และทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือใช้สมาธิจดจ่อมาก ๆ โดยมีอาการ เช่น

 

    • เป็นไข้ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
    • หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ไอ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
    • ปวดท้อง ท้องเสีย รับประทานอาหารไม่ลง
    • ปวดหู หรือมีเสียงในหู
    • ใจสั่น ขาดสมาธิ หรือคิดอะไรไม่ออก หัวตื้อ นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
    • มีอาการชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
    • ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสได้ไม่ดี
    • ผื่นตามตัว
    • รอบประจำเดือนมาผิดปกติ

 

2. ภาวะที่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความผิดปกติในหลายอวัยวะ (multiorgan effects)

 

คือการที่ผู้ป่วยนั้นมีอาการผิดปกติเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย โดยมีสาเหตุจากปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาที่รุนแรงอย่าง cytokine storm ที่ร่างกายของผู้ป่วยโควิด-19 ไม่สามารถควบคุมการหลั่งสารในระบบภูมิคุ้มกันกลุ่ม cytokine ได้ส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะหลายส่วนถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยเอง มักพบมากที่บริเวณเนื้อเยื่อหัวใจ ปอด ไต สมอง และผิวหนัง

 

และ ในเด็กอาจะพบการเกิดโรค Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) (ดูรายละเอียดภาวะ MIS-C เพิ่มด้านล่าง**) ที่มีอาการโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) คือเกิดการอักเสบในหลายอวัยวะ มีไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่หรือหลังหายทันที โดยโรคนี้อาจมีผลกระทบต่อหลายอวัยวะ (multiorgan effects) ในระยะยาวได้

 

3.ผลกระทบระยะยาวจากการนอนโรงพยาบาลและจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

มักเกิดในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีการนอนโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้อง ICU ที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจ อาจทำให้แขนขาไม่ค่อยมีแรงและยังคงรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่แม้จะไม่มีเชื้อโควิดอยู่แล้ว ในบางกรณีอาจมีผลต่อเรื่องการคิดและคำพูด นำไปสู่ภาวะที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder; PTSD) เช่น การได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือถูกปั๊มหัวใจในการช่วยชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียดฉับพลันและอาจสะสมมาอย่างต่อเนื่อง

 

ภาวะแทรกซ้อนจากลองโควิด

 

  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
  • สมองล้า (Brain Fog)
  • ภาวะพร่องทางระบบประสาทอัตโนมัติ (Dysautonomia)
  • ภาวะ Guillain – Barre Syndrome
  • โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)
  • โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)

 

** Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C)

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากภาวะลองโควิดแล้ว ยังมีภาวะการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้ออีกหนึ่งอย่าง คือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C) ซึ่งมักจะพบในเด็ก นับเป็นอีกหนึ่งภาวะที่ควรทำความรู้จัก

 

    • เป็นกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ
    • เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป

 

อาการจากภาวะ “MIS-C” 

      • ไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
      • ตาแดง
      •  ริมฝีปากแห้ง แดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม
      • ผื่นขึ้นตามตัว
      • มีอาการช็อค ความดันต่ำ
      • ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
      • หายใจหอบ
      • ปวดศีรษะ ซึม

 

ภาวะ “MIS-C” อาจก่อให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย อาทิ

      • ระบบหัวใจและหลอดเลือด  ทำให้มีอาการช็อค ความดันต่ำ หัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ
      • ระบบทางเดินหายใจ   ปอดอักเสบ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
      • ระบบทางเดินอาหาร   ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน ปวดท้อง เลือดออกทางเดินอาหาร หรือตับอักเสบ
      • ผิวหนัง  ผิวหนังแดง เยื่อบุอักเสบ เป็นผื่น
      • ระบบประสาท มีอาการชัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
      • ระบบเลือด เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
      • ไตวายฉับพลัน

 

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้ในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ เกี่ยวกับภาวะลองโควิดว่า

 

สำหรับภาวะ Long Covid สามารถเกิดขึ้นในผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาสุขภาพร่างกายจนแข็งแรงดีแล้ว และในช่วงระยะเวลา 3-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของการตรวจหาเชื้อไม่พบแล้ว

 

โดยจะมีอาการต่างๆ เช่น ปวดหัว มึนงง แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น มีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน อาการเหล่านี้ จะเป็นๆ หายๆ และจะมีอาการอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้นในช่วงระยะเวลา 8-9 เดือน เช่น หลงลืม ผมร่วง แขนขาอ่อนแรง ความจำสั้น ความดันโลหิตสูง การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป หรือพบอาการชาที่ลิ้นในบางราย

 

และจะมีอาการผิดปกติทางด้านอารมณ์เกิดขึ้น เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ จิตใจไม่แจ่มใส ซึ่งอาการเหล่านี้ ผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาแล้วต้องคอยสังเกตอาการด้วยตนเอง และเมื่อพบอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบเข้ารับการรักษาโดยทันที

 

แหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลรามคำแหง , โรงพยาบาลกรุงเทพฯ : LONG COVID เรื่องต้องรู้เมื่อหายจากโควิด-19 , สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้อยู่กับคุณแค่สั้น ๆ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง