รีเซต

“ผบช.ตำรวจไซเบอร์”พร้อมผู้บังคับการทุกภาค รับนโยบายรัฐมนตรี"ดีอีเอส" ลุยคดีฉ้อโกงออนไลน์

“ผบช.ตำรวจไซเบอร์”พร้อมผู้บังคับการทุกภาค รับนโยบายรัฐมนตรี"ดีอีเอส" ลุยคดีฉ้อโกงออนไลน์
มติชน
27 พฤศจิกายน 2563 ( 18:55 )
206

วันที่ 27 พ.ย. 2563 เวลา 14.00 น. พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) (กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์) นำระดับผู้บังคับการแต่ละภาค เข้าพบและรับมอบนโยบาย จากนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ.(ETDA)

 

โดยนายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ก่อนการจัดตั้งกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์นั้นสืบเนื่องจากพบปัญหาทางคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีมีจำนวนมาก และเมื่อประชาชนไปแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) จำนวนเจ้าหน้าที่ มีไม่เพียงพอต่อการเร่งดำเนินการและเกิดความไม่คล่องตัว บางกรณีไม่มีเจ้าทุกข์แต่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายปัญหาจึงไม่ถูกแก้ไข

 

ตนจึงหารือกับพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าจำเป็นจะต้องมีกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์เพื่อเข้ามาช่วยประชาชนที่มีความเดือดร้อนในคดีทางเทคโนโลยี ที่นับวันยิ่งมีจำนวนมากขึ้นหลายเท่าตัว และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี จนสุดท้ายสามารถจัดตั้งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เรียกง่าย ๆ ว่ากองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ขึ้นในที่สุด

 

ซึ่งในช่วงแรกนี้ ทางกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ จะต้องเร่งคัดเลือกบรรจุบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไอทีให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งจัดอบรมให้ความรู้ใน 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ระดับผู้เชี่ยวชาญ และระดับปฏิบัติการ เพื่อสามารถทำงานให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับวางแนวทางขั้นตอนการทำงานของตำรวจไซเบอร์ที่ประจำแต่ละพื้นที่ให้ปฏิบัติงาน เช่น วิธีการรับแจ้งความทางออนไลน์ การเก็บพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

ทั้งนี้ สอท.ต้องประสานการทำงานกับตำรวจปอท. ศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ปท.)กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นเอกภาพ เช่น การลงพื้นที่จับกุมเว็บพนันออนไลน์ จำเป็นต้องเชื่อมโยงการทำงาน

 

เบื้องต้น กองบัญชาการฯ ต้องให้ความสำคัญและเร่งทำคือ เรื่องการโพสต์ข้อความไม่เหมาะสม ,การจัดการด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ จากตัวอย่างที่เกิดกับโรงพยาบาลสระบุรี และการประกาศแฮกเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ,การติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดที่ประชาชนผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ แจ้งความเข้ามา รวมถึงการขอออกหมายศาล หมายค้น หมายจับต่าง ๆ ซึ่งกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ ต้องเน้นการบริการรับแจ้งความช่วยเหลือความเดือดร้อนให้ประชาชนเป็นหลัก

 

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ทั่วประเทศ ช่วยกันแก้ปัญหาภัยด้านเทคโนโลยี เช่น การฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนในการซื้อของออนไลน์ รวมถึงการจัดให้มีเครื่องสแกนกล่องพัสดุที่ถูกส่ง ทั้งในและจากต่างประเทศเพื่อป้องกันการส่งของที่ผิดกฎหมายเช่น อาวุธเถื่อน ยาเสพติด เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และการเก็บภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศเพื่อนำภาษีมาพัฒนาประเทศในอนาคตซึ่งต้องหารือร่วมกับกรมสรรพากร ในลำดับต่อไป

 

ด้านผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทุกนาย พร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งในช่วงก.พ.-เม.ย.2564 จะมีการแต่งตั้งและโอนย้ายมาช่วยราชการได้ เบื้องต้น กว่า 1,000 นาย และเร่งดำเนินการอบรมความรู้ด้านเทคโนโลยีให้เกิดความชำนาญ โดยทาง ผบ.ตร. ก็ได้มอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดูและประชาชนเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการรับแจ้งเหตุ แจ้งความผ่าน application บนมือถือด้วยวิธี Video Call ได้ แจ้งรายชื่อ ร้อยเวรได้ เพื่อลดปัญหาเรื่องไม่เข้าใจในการเก็บข้อมูล ซึ่งเรื่องใดที่เกี่ยวกับไซเบอร์ ทาง สอท. ดำเนินการเอง ส่วนเรื่องทั่วไป (มโนสาเร่) ให้ท้องที่ดำเนินการ โดยให้สอท. ช่วยเหลือ เป็นการทำงานควบคู่กันไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง