มอแกนเกาะพยาม เส้นทางชีวิตที่พร้อมพัฒนา บนเส้นจำกัด อิสระ ที่ไม่เหมือนเดิม
‘มอแกนเกาะพยาม’
เส้นทางชีวิตที่พร้อมพัฒนา
บนเส้นจำกัด ‘อิสระ’ ที่ไม่เหมือนเดิม
กลุ่มชาวมอแกนที่เกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง กว่า 30 ครอบครัว ซึ่งเริ่มเข้ามาปักหลักบนเกาะอย่างถาวรตั้งแต่หลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ก่อนหน้านั้นพวกเขาจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในทะเล จะอาศัยเกาะเป็นที่พักพิงในบางช่วงบางเวลา โดยเฉพาะช่วงมรสุมหรือการแลกเปลี่ยนสินค้าสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ แต่เมื่อมีการขีดเส้นแบ่งพรมแดนกำหนดขอบเขตประเทศและกำหนดชีวิตชาวมอแกนในแต่ละแห่ง ให้เป็นคนของประเทศนั้น เป็นพลเมืองของประเทศนี้ ชีวิตของพวกเขาก็พลิกเปลี่ยนไปทันที
คนทะเล หรือหลายคนเรียกพวกเขาว่า ชาวเล ที่เคยล่องเรือไปได้ทุกหนแห่งในทะเลอันดามันมหาสมุทรอินเดีย กลับไม่สามารถข้ามพ้นเส้นเขตแดนของแต่ละประเทศได้ เมื่อถูกกำหนดให้อยู่ที่จังหวัดระนองก็ไม่สามารถข้ามพรมแดนไปมาหาสู่ญาติพี่น้องและผองเพื่อนที่จังหวัดอื่นๆ ได้เช่นกัน เพราะพวกเขายังเป็นคนไร้สัญชาติ ไร้บัตรประชาชนคนไทย มีเพียงคำว่า ทะเลลึก กล้าทะเล หรือ ประมงกิจ ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานมอบให้กับชาวมอแกนในแต่ละพื้นที่ ส่วนการทำมาหาเลี้ยงชีพก็ทำได้เพียงทะเลหน้าบ้าน หน้าเกาะ หรือรับจ้างภายในจังหวัดเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีชาวมอแกนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับบัตรประชาชนคนไทย
เอวุฒิ ทะเลลึก หรือวุฒิ หนุ่มมอแกนวัย 17 ปี วันนี้เขาได้รับบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยแล้ว ซึ่งเขาก็ยังภูมิใจในความเป็นมอแกน และดีใจที่ได้รับสัญชาติไทย เพราะวันนี้เขาและเพื่อนๆ ชาวมอแกนจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมทีมกับชมรมกีฬาโต้คลื่นจังหวัดระนอง ที่เกาะพยาม ได้มีโอกาสเดินทางไปแข่งขันกระดานโต้คลื่นหรือเซิร์ฟบอร์ดในหลายสนาม ด้วยวิถีของชาวมอแกนที่ผูกพันและอยู่กับทะเลมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เอวุฒิได้เปรียบคนอื่นตรงที่เขาไม่กลัวทะเล การตกจากกระดานโต้คลื่นและสำลักน้ำทะเลจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขาและเพื่อนๆ ชาวมอแกนคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมทีม
เอวุฒิกล่าวว่า ตนเองได้รับบัตรประชาชนมาแล้วราวปีครึ่งและได้มีโอกาสไปร่วมแข่งขัน และร่วมเป็นกรรมการเซิร์ฟบอร์ดที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต ทำให้รู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้น อยากจะให้คนที่มาเที่ยวเกาะพยาม รวมถึงมาเที่ยวชมหมู่บ้านมอแกน ได้มองเห็นความสามารถของคนมอแกนซึ่งนอกจากจะจับปูจับปลาได้แล้วยังสามารถเป็นนักกีฬาเซิร์ฟบอร์ดได้ด้วย และอยากให้ลบภาพการนั่งรอรับแต่ของบริจาคไปเสียเพราะพวกเราสามารถเป็นนักกีฬาได้ สามารถช่วยเหลือและดูแลตัวเองกันได้ โดยตนเองตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นนักกีฬาระดับประเทศให้ได้ และหากมีความสามารถมากพอก็อยากจะไปถึงระดับโลกด้วย
Mr.Philippus Albertus van Wyk ครูอาสาสมัคร มูลนิธิพักพิงคุ้มภัย (Heaven Foundation) หรือที่ชาวเกาะพยามจะเรียกว่า อาจารย์อำนาจ กล่าวว่า ตนเองมาทำงานเป็นอาสาสมัครอยู่ที่เกาะพยามกว่า 10 ปี และได้รับเอวุฒิเป็นลูกเลี้ยง โดยมองว่าชาวมอแกน ที่นี่มีการพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก พวกเขามาความรู้เรื่องทะเล ปลา ปู ปลิงทะเล พวกเขารู้ว่าจะต้องจับแบบไหน แบบไหนต้องปล่อย เพื่อให้อาหารทะเลมีความยั่งยืน และมอแกนสามารถสอนเราได้ในเรื่องทะเล ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นั้น ชาวมอแกนไม่ได้เดือดร้อนอะไรเลย เพราะพวกเขามีอาหารมาจากทะเล มีเพียงราชการและทหารที่นำเอาข้าวสารมาให้ นักท่องเที่ยวไม่มีเลย
“ก่อนหน้านี้เคยมีมูลนิธิเข้ามาบอกว่าควรพัฒนาคุณภาพชีวิตมอแกน ควรให้พวกเขามีประเทศ เพราะก่อนหน้านั้นทะเลคือประเทศของเขา เขาไปที่ไหนๆ ก็ได้ แต่ตอนนี้มีกฎหมายระหว่างประเทศ มอแกนในระนองเคยล่องเรือไปในทะเล ไปตามเกาะต่างๆ ก็ข้ามประเทศไปไม่ได้แล้ว หรือแม้แต่จะข้ามจังหวัดก็ไปไม่ได้ สิ่งนี้ทำให้มอแกนลำบากมากขึ้น ทำมาหากินได้เฉพาะที่หน้าเกาะเท่านั้น จะข้ามไปหากินที่จังหวัดอื่นก็ไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาต้องการตอนนี้คือบัตรประชาชนคนไทย พวกเขาเป็นนักกีฬาได้ พวกเขาสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้”
นีโน่ ทะเลลึก ชาวมอแกนบนเกาะพยาม กล่าวว่า ชาวมอแกนที่นี่จะหากินอยู่กับทะเล วางอวนปู อวนกุ้ง ผู้หญิงก็จะไปเจาะหอยตามโขดหินเวลาน้ำลง ช่วงนี้ของทะเลราคาจะถูกหน่อยเพราะเป็นช่วงมรสุมและปิดเกาะ ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว ปูที่หามาได้ก็จะนำไปขายที่ท่าเรือ จะมีคนมารับซื้อและบางส่วนก็ส่งไปขายต่อที่บนฝั่ง แต่ถ้าเป็นช่วงเปิดเกาะก็ขายกันอยู่บนเกาะเพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวกันเยอะ ช่วงมรสุมก็หาปู ช่วงแล้งก็หากุ้ง หากินได้ทั้งปี
หากการขีดเส้นจำกัดขอบเขตการเคลื่อนที่ของชีวิตคน จนทำให้พวกเขาไม่สามารถเดินทางทำมาหากินข้ามเขตแดนได้อิสระเหมือนดังเดิม ในขณะที่สิทธิขั้นพื้นฐานทางสังคมก็ยังไม่มี นั่นก็คือการยัดเยียดความทุกข์ยากและลำบากให้พวกเขาโดยที่เขาไม่เต็มใจ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวมอแกน หรือที่หลายคนเรียกว่า ชาวเล หรือ ยิปซีทะเล ผู้ซึ่งมีวิถีชีวิตและภาษาเป็นของตัวเอง ผู้ซึ่งมีศักยภาพความสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้เฉกเช่นคนไทยทั่วไป แต่สิ่งที่พวกเขาส่วนใหญ่ยังขาดนั่นก็คือ สัญชาติไทย อันจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นได้ ที่ดูเหมือนจะช้าเกินไป หลังถูกขีดเส้นจำกัดการใช้ชีวิตมามากกว่า 10 ปี