ทารก 3 เดือน ติดโควิดย่านบางบอน หลัง เพื่อนพ่อมากินหมูกระทะที่บ้าน แม่-พี่ 7 ขวบติดด้วย
นพ.วิชาญ ปาวัญ ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ใน กทม.ว่า การระบาด ระลอกใหม่ของ กทม.แตกต่างจากระลอกแรก โดยผู้ป่วยระลอกใหม่ไม่สูงเท่าระลอกแรก ทั้งที่จำนวนคนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ไม่ได้ต่ำกว่า แสดงว่าระบบการเฝ้าระวังในพื้นที่ยังทำงาน ไม่ได้ลดการเฝ้าระวัง และการระบาดระลอกแรกเป็นการติดเชื้อไม่มีอาการ 29% ส่วนระลอกใหม่ติดเชื้อไม่มีอาการ 49%
“คลัสเตอร์สำคัญในกทม. คือ กรณีเชื่อมโยงสมุทรสาคร ซึ่งพบมากช่วงปลาย ธ.ค. 63 และค่อยๆ ลดลง จนเริ่มพบมากขึ้นจากการเข้าไปค้นหาเชิงรุก และกรณีสถานบันเทิง เกิดขึ้น 3 เวฟ คือ เวฟแรกย่านปิ่นเกล้า เวฟสองย่านธนบุรี และเวฟสามแถวบางนา แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือเริ่มพบการระบาดในครอบครัว สถานประกอบการ และองค์กรต่างๆ ต่อเนื่อง จึงต้องย้ำมาตรการเฝ้าระวังในสถานประกอบการอย่างเข้มข้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ตรวจจับและยุติการระบาดให้เร็วที่สุด ภาพรวมถือว่าสถานการณ์คงตัว แต่ไม่อาจวางใจได้ ต้องเฝ้าระวังเข้มข้นสูงสุด ตรวจจับการระบาดให้เร็ว และยุติวงรอบการระบาดให้เร็วที่สุด”
นพ.วิชาญ กล่าวต่อว่า จุดเสี่ยงสำคัญของ กทม.คือ ตลาด เพราะมีความเชื่อมโยงกับพ่อค้าแม่ค้าที่นำสินค้ามาจากสมุทรสาคร มีการสำรวจตลาดแล้ว 117 แห่ง โดยตั้งเป้าตรวจพ่อค้าแม่ค้าทุกรายที่มาจากที่เสี่ยงโดยการตรวจน้ำลาย ปัจจุบันตรวจ 1.2 หมื่นราย พบผู้ป่วย 14 ราย สัปดาห์นี้วางแผนเก็บตัวอย่างน้ำลายอีก 1.8 หมื่นราย จะครอบคลุมทั้งหมดของตลาดที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนมาตรการของแรงงานต่างด้าวได้กำหนดจุดด่านตรวจแรงงานต่างด้าวไม่ให้เคลื่อนย้าย และสำรวจพื้นที่มีแรงงานอาศัยอยู่มาก และวางแผนสุ่มสำรวจเฝ้าระวังในโรงงานที่มีแรงงานต่างด้าว ส่วนสถานบันเทิงมีการสั่งปิดสถานที่เสี่ยงแล้ว” นพ.วิชาญกล่าว
เมื่อถามถึงการติดเชื้อของเด็กอายุ 3 เดือนใน กทม. นพ.วิชาญกล่าวว่า เป็นการติดเชื้อในครอบครัวในเขตพื้นที่บางบอน ซึ่งครอบครัวมี 5 คน ติดกัน 3 คน คือ แม่อายุ 40 ปี และลูกชาย 2 คน อายุ 7 ขวบ และ 3 เดือน เป็นจุดพื้นที่ใกล้สมุทรสาคร สอบสวนโรคพบว่าเพื่อนของสามีมากินหมูกระทะที่บ้าน เพื่อนที่มาเยี่ยมมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ไปตรวจพบการติดเชื้อ จึงแจ้งมาที่ครอบครัวและไปตรวจ ซึ่งทั้งสามรายไม่มีอาการ แต่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จึงตรวจและค้นพบนำเข้าสู่การรักษาแล้ว