เยอรมนีมุ่งบรรลุเป้าหมายเลิกใช้ 'พลังงานนิวเคลียร์' หนุนพลังงานหมุนเวียน
เบอร์ลิน, 12 มี.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (11 มี.ค.) สเวนยา ชูลเซอ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ และความปลอดภัยนิวเคลียร์ของเยอรมนี เสนอแผนการเพื่อบรรลุเป้าหมายยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี อุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น
แผนการดังกล่าวระบุขั้นตอนเพิ่มเติมที่จำเป็นต่อการ "ลดอันตรายจากนิวเคลียร์ในเยอรมนีให้อยู่ในระดับต่ำสุด แม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งสุดท้ายของประเทศจะปิดตัวลงช่วงสิ้นปี 2022"
"หลังเยอรมนีปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งสุดท้ายในปีหน้า เราจะบรรลุเป้าหมายครั้งประวัติศาสตร์ แต่อันตรายจากนิวเคลียร์ยังคงอยู่ เราจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ทั้งในเยอรมนี ยุโรป และทั่วโลก" ชูลเซอระบุในแถลงการณ์
แม้กระบวนการเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ในเยอรมนีดำเนินไปด้วยดี แต่เยอรมนียังคงผลิตองค์ประกอบเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในต่างประเทศ แผนการข้างต้นจึงเสนอให้เยอรมนีปิดโรงงานที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ในเมืองลิงเงนและโกรเนา
นอกจากนั้นแผนการข้างต้นยังกระตุ้นการขยายภาคพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้พลังงานลมและพลังแสงอาทิตย์ทดแทนพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหินอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) ระบุว่าสัดส่วนพลังงานทดแทนในเยอรมนีพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2020 อยู่ที่ร้อยละ 47 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42.3 ในปี 2019 โดยพลังงานลมครองสัดส่วนร้อยละ 25.6 กลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่สุดของเยอรมนีแทนที่ถ่านหิน