แท็กซี่ป้ายดำเฮ! ครม.ไฟเขียว เป็นรถรับจ้างถูก กม. คาดเริ่มปลาย มิ.ย.นี้
ข่าววันนี้ 25 พ.ค.64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ....... หรือแท็กซี่ป้ายดำ โดยกำหนดให้ตัวรถมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. รถขนาดเล็ก เครื่องยนต์ 50-90KW
เช่น March, Vios, City และ Mirage กำหนดอัตราจัดเก็บอัตราค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ในปัจจุบัน
2. รถขนาดกลาง เครื่องยนต์ 90-120 KW
เช่น Altis , Civic กำหนดอัตราจัดเก็บอัตราค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ในปัจจุบัน
3. ขนาดใหญ่ เครื่องยนต์มากกว่า 120KW
เช่น Accord, Fortuner กำหนดอัตราจัดเก็บอัตราค่าไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ VIP ในปัจจุบัน และ สามารถจัดเก็บค่าบริการเพิ่มเติมกรณีอื่นๆได้ แต่ต้องไม่เกิน 200 บาท
โดย รมว.คมนาคมเป็นผู้ประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสาร
นอกจากนี้ แท็กซี่ป้ายดำ นั้น ผู้ที่ขับขี่จะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และใช้แอพพลิเคชั่นของผู้ให้บริการที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น ต้องมีการทำประกันภัยเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร และติดเครื่องหมายแอพพลิเคชั่น
“หลัง ครม.อนุมัติ และมีการประกาศกฎกระทรวงเรียบร้อย ซึ่งคาดจะจัดทำประกาศให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน คาดสามารถบังคับใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้ประมาณปลาย มิ.ย.- ก.ค.64”
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า หลังจากนี้กรมการขนส่งทางบกต้องออกประกาศกำหนดคุณสมบัติของผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น โดยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- ต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย
- มีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท
- มีสถานที่ประกอบการในไทย
- มีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
- ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎหมายของกรมการขนส่งทางบก โดยต้องยื่นขอการรับรองกับกรมการขนส่งทางบกด้วย
สำหรับแอพพลิเคชั่นต้องใช้สำหรับเรียกใช้บริการรถยนต์รับจ้างเท่านั้น และต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ขับรถและผู้โดยสารให้ครบถ้วนดังต่อไปนี้ คนขับจะต้องมีระบบการยืนยันตัวตน เช่น
- Pin Code หรือ Face Scan เป็นต้น
- มีระบบคำนวณเส้นทาง ,ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ
- มีระบบรับ-ส่งข้อความ และโทรศัพท์ของผู้โดยสาร
ส่วนผู้โดยสารจะต้องมี
- ระบบลงทะเบียนผู้โดยสาร
- ระบบเรียกใช้งานรถแบบทันทีและแบบจองล่วงหน้า
- ระบบคำนวณเส้นทาง ระยะเวลา ค่าโดยสาร
- ระบบประเมินความพึงพอใจต้อผู้ขับรถ
- ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินด้วย
สำหรับตัวอย่าง บริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นในไทยในปัจจุบัน เช่น
- บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (Grab) ทุนจดทะเบียน 2,879 ล้านบาท
- บริษัท เพอร์พิล เวนเจอร์ จำกัด (Robinhood) ทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท
- บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่(ประเทศไทย) จำกัด (Food Panda) ทุนจดทะเบียน 204 ล้านบาท
- บริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด (Gojek) ทุนจดทะเบียน 104 ล้านบาท
- บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท