โควิดฉุด ผู้ส่งออกใช้สิทธิเอฟทีเอ-จีเอสพีหดตัว เหลือเครื่องดื่ม อาหาร เกษตร ยังโตได้
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 โดยมูลค่าการใช้สิทธิ รวม 26,068.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 77.53 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 23,980.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,088 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การใช้สิทธิฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิฯ ส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปในภาพรวมยังขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 23,980.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 15.87 มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 77.75 ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน (มูลค่า 8,051.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2. จีน (มูลค่า 7,816.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3. ญี่ปุ่น (มูลค่า 2,888.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4. ออสเตรเลีย (มูลค่า 2,446.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5. อินเดีย (มูลค่า 1,445.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย-ชิลี (ร้อยละ 100) 2. อาเซียน-จีน (ร้อยละ 89.84) 3. ไทย-เปรู (ร้อยละ 89.54) 4. ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 84.30) และ 5. อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 81.92)
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง มกราคม-พฤษภาคม 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,088 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.52 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 75.02 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,905.12 ล้านเหรียญ-สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.16 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 77.40 อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 106.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.68 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 46.18 อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 66.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.66 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 85.06 และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 10.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.01 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 75.71
นายกีรติ กล่าวว่า แม้ว่าการใช้สิทธิฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารสำคัญของโลกยังมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการบริโภคสูงขึ้นในหลายประเทศที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอยู่ โดยสินค้าที่มีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ อาหารปรุงแต่ง (สหรัฐอเมริกา อาเซียน) สับปะรดกระป๋อง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี) ข้าวโพดหวาน (อาเซียน-เกาหลี) กุ้ง (ไทย-ชิลีและอาเซียน-เกาหลี) ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง (อาเซียน-จีน) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ไทย-เปรู) ปลาทูน่า-ปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) เต้าหู้ปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) น้ำผลไม้ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เป็นต้น
นายกีรติ กล่าวว่า เดือนกันยายน 2563 กรมการค้าต่างประเทศ มีแผนงานที่จะจัดสัมมนาในกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ให้กับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกที่สนใจจะสร้างแต้มต่อและโอกาสในการส่งออกสินค้าด้วยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยภายใต้สถานการณ์การเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 กรมฯ ได้เตรียมปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมสัมมนาให้เหมาะสมกับยุคสมัยปกติใหม่ (New Normal) โดยจะเลือกจัดกิจกรรมแบบคู่ขนานที่มีผู้เข้าร่วมงานในสถานที่จัดงานจริงแบบไม่แออัด เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้เข้าร่วมงาน ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการถ่ายทอดสดผ่านสัมมนาออนไลน์ (webinars) และการสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook live) โดยผู้เข้าร่วมงานแบบออนไลน์สามารถรับชมและร่วมแสดงความเห็นได้แบบเสมือนเข้าร่วมงานสัมมนาจริง