“คณิศ” ชี้อีอีซีเดินต่อ รับเหมาได้อานิสงส์
ทันหุ้น - สู้โควิด - ดร.คณิศ ย้ำทุกโครงการใน EEC เดินหน้าตามกรอบเวลา เล็งศึกษา 3 โครงการระยะลงทุนเวลา 3-15 ปี ทั้งท่าเรือ, ระบบราง, ถนน มุ่งดันไทยเป็น Hub การขนส่งอาเซียน นักวิเคราะห์ฟันธงรัฐบาลอัดฉีดระบบเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เติม Backlog กลุ่มรับเหมาต่อ หนุนผลงานฟื้น เคาะราคาพื้นฐาน SEAFCO ที่ 8.40 บาท และ STEC อยู่ที่ 24 บาท
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ คณะกรรมการ EEC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) กำกับการบูรณาการโครงการต่างๆ โดยให้กระทรวงคมนาคม และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ 3 โครงการโดยเน้นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (PPP) ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน
1.โครงการท่าเรือบก (Dry port) เชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญ ๆ เช่น ฉงซิ่ง คุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทร์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) ย่างกุ้ง เนปยีดอ มัณฑะเลย์ (เมียนมา) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) คาดว่าจะทยอยดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 ปี เมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์จะเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (TEU) ต่อปี
2. โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน เป็นการศึกษาต่อยอดจากโครงการ Land bridge (สร้างท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนองและเชื่อมโยงด้วยระบบราง โดยจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จังหวัดระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ หรือ BIMSTEC (บังกลาเทศ ภูฎาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา) คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี (ปี 2564) และจะเริ่มทยอยเปิดประมูลในรูปแบบ PPP ในปี 2565 เป็นต้นไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี
3. โครงการสะพานไทยที่จะเชื่อมโยง EEC ไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) โดยการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตก และตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรีและ จ.เพชรบุรี) ระยะทางประมาณ 80-100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15 ปี
พร้อมกันนี้ยืนยันว่าการลงทุนทุกโครงการทั้ง 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, 2.โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา, 3.ท่าเรือมาบตาพุด, และ 4.ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ยังคงเดินหน้าตามกรอบระยะเวลาได้อย่างต่อเนื่อง
นายภาสกร ลิมมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุ รัฐบาลยังคงตระหนักถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นความพยายามผลักดันโครงการต่างๆ อย่างออกมาโดยเฉพาะการลงทุนในรูปแบบ “ร่วมทุนกับเอกชน” หรือ PPPเพื่อลดภาระเงินลงทุนภาครัฐ
ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะเริ่มเห็นความชัดเจนของการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่ผ่านการประมูล และได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วในปี 2563 โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา ที่จะเข้ามาเติมปริมาณงานในมือ (Backlog) ให้กับกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – บางขุนนนท์ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะพยายามผลักดันให้อยู่ภายในกรอบระยะเวลาเดิม ดังนั้นหากมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทยอยเปิดประมูลในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ต่อเนื่องปี 2565 ถือเป็นการทยอยเติมBacklog ของกลุ่มให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินเป็นปัจจัยกดดันระยะสั้น ซึ่งไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาส 1/2564 สอดคล้องกับปริมาณงานก่อสร้างจะทยอยหนาแน่นขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ประกอบกับราคาหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ณ ปัจจุบัน เหมาะสมที่จะเข้าลงทุนระยะกลาง-ยาว จึงแนะนำ “ซื้อ” SEAFCO ราคาเหมาะสมที่ 8.4 บาท, และ STECราคาเหมาะสมที่ 24 บาท เนื่องจากทั้ง 2 ตัวมีปริมาณ Backlogรองรับรายได้ต่อเนื่องถึงกลางปี 2564 อีกทั้งยังมีศักยภาพพร้อมเข้าประมูลงานในอนาคตเข้ามาเติม Backlogอย่างต่อเนื่อง