สหรัฐฯ ทุ่มเงิน 9.2 ล้านบาท พัฒนา “ชาร์จไร้สาย” ให้กับโดรนที่กำลังบิน
DARPA หรือ Defense Advanced Research Projects Agency หน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ประกาศมอบทุนเพิ่มเติมให้กับด๊อกเตอร์อิฟานา มาห์บับ (Ifana Mahbub) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเท็กซัส มูลค่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชาร์จชาร์จไร้สายให้กับโดรนที่กำลังบินปฏิบัติภารกิจอยู่บนท้องฟ้า
เทคโนโลยีชาร์จไร้สายเป็นเทคโนโลยีที่จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำในระยะสั้น ๆ เพื่อชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้ติดตั้งคอยล์ หรืออุปกรณ์สำหรับใช้ดักจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อสร้างเป็นกระแสไฟป้อนเข้าสู่แบตเตอรี่
โดยเทคโนโลยีชาร์จไร้สายในปัจจุบัน ยังรองรับการชาร์จได้ในระยะทางสั้น ๆ เท่านั้น ( 4 เซนติเมตร - 1 เมตร ในระยะไกลมากกว่า 1 เมตร ตัวอุปกรณ์จำเป็นต้องอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไหว) ซึ่งนั่นเป็นโจทย์ที่ทางนักวิจัยต้องแก้ เพื่อให้สามารถส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปให้ไกลมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายก็คือตัวโดรนที่กำลังบินอยู่บนฟ้า
ไอเดียของนักวิจัยในตอนนี้ คือการใช้เสาอากาศแบบแบ่งเฟส หรือก็คือการใช้ระบบส่งสัญญาณ ร่วมกับเสาอากาศขนาดเล็ก เพื่อกำหนดทิศทางที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะส่งไป แล้วจึงใช้ข้อมูลตำแหน่งของโดรนที่ส่งมาให้แบบเรียลไทม์ ในการกำหนดจุดที่จะส่งคลื่นแม่เหล็กนี้ไปให้
ระยะทางที่ต้องทำให้สำเร็จสูงสุดคือประมาณ 15,240 เมตร หรือก็คือความสูงสูงสุดที่โดรนทหารจะสามารถบินขึ้นไปได้ และขั้นต่ำสุดคือที่ระยะทางประมาณ 610 เมตร โดยเทคโนโลยีชาร์จโดรนแบบไร้สายนี้ จะช่วยให้โดรนปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาบินกลับมายังฐาน เพื่อชาร์จพลังงานหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และหากต้องการนำไปใช้งานจริงจะต้องได้รับการอนุมัติจาก FCC หรือ Federal Communications Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคมภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา
แหล่งที่มา : news.utdallas.edu