รีเซต

เปิดโผ “ธุรกิจดาวรุ่ง” อาชีพที่ต้องทำ ปี 65 ธุรกิจดาวร่วง ควรปรับตัว

เปิดโผ “ธุรกิจดาวรุ่ง” อาชีพที่ต้องทำ ปี 65 ธุรกิจดาวร่วง ควรปรับตัว
TNN ช่อง16
22 ธันวาคม 2564 ( 15:19 )
90

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้โฉมหน้าของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกเองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจรุกตลาดออนไลน์เร็ว และรุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ นอกจากต้องดูพยากรณ์ดวงชะตาแล้ว ยังต้องพยากรณ์ว่า ธุรกิจอะไรจะรุ่ง หรือธุรกิจอะไรจะร่วงในปี 2565 เพื่อให้สามารถจับกระแสธุรกิจที่จะเข้ามา และดำเนินการได้อย่างถูกต้อง โดยรายการเศรษฐกิจ Insight ได้นำเสนอธุรกิจที่มีโอกาสสูงในปี 2565 เป็น 21 ธุรกิจดาวรุ่งแห่งปี และ 14 ธุรกิจดาวร่วง ซึ่งจะต้องหาโอกาสในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ ก่อนรายได้หดหายจนเสี่ยงปิดกิจการ  


ข้อมูลจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยบหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจปี 2564 จะเติบโตได้ร้อยละ 1.5 ขณะที่ปี 2565 จะเป็นปีที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย การแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอน แม้จะรวดเร็ว แต่ข้อมูลด้านความรุนแรงยังคงเป็นสถานการณ์ที่ดี ที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตไม่มาก ทำให้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี จะเติบโตร้อยละ 4.2 

และหากแบ่งออกเป็นจีดีพี ภาคการเกษตร จะเติบโตร้อยละ 3.3 และกลุ่มที่เติบโตได้ดีกว่า คือ จีดีพี นอกภาคเกษตร ที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตร้อยละ 4.3 หลังจากที่ชะลอตัวในช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง 

ด้านการลงทุน ยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคล่อนเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.3 จากปี 2564 ที่คาดว่าทั้งปีจะมีการเติบโตด้านการลงทุนร้อยละ 4.2 โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ยังเป็นหัวใจสำคัญ ขณะที่เม็ดเงินการลงทุนภาคเอกชน ฟื้นตัวต่อเนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น 

ภาคการส่งออก ยังเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดียวของไทยในปี 2564 ซึ่ง หอการค้า คาดว่า ทั้งปี 64 จะเติบโตร้อยละ 16.5 ซึ่งเป็นระดับการเติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2554  ขณะที่ปี 2565 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.4 

ส่วนภาคการท่องเที่ยว ในปี 2564 แม้จะมีช่วงระยะเวลา 2 เดือน สำหรับการเปิดประเทศ แต่คาดว่า จะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจะสร้างรายได้ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าตัว 


โดย ธุรกิจอะไรจะทำได้ดีในปี 2565 โดยได้นำเอายอดขาย ต้นทุน กำไร ปัจจัยเสี่ยง และแนวโน้มความต้องการหรือ เทรนด์ (สมัยนิยม) เข้ามาพิจารณา และให้คะแนน เต็ม 100 คะแนน ธุรกิจที่ได้คะแนนมากที่สุด อันดับ 1 มีคะแนนสูงถึง 95.5 คะแนน เท่ากัน 2 ธุรกิจ  

เริ่มจาก ธุรกิจการแพทย์ และความงาม ใครอยู่ในธุรกิจนี้ เกาะให้แน่น เพราะโอกาสมีอยู่มากเหลือเกิน โดยปัจจัยสนับสนุน คือ โควิด-19 ทำให้มีการวิจัย และพัฒนายารักษา และวัคซีนคุณภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ,กระแสการให้ความสำคัญกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ,จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีการขยายสถานที่รักษามากขึ้น ,การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ,การดูแลความสวยงามและผิวพรรณมากขึ้น ,ต้องรู้เทคนิคและวิธีในการดูแลสุขภาพ และความงามมากขึ้น สุดท้าย การกลับมาให้บริการได้เต็มรูปแบบของธุรกิจเพื่อสุขภาพ หลังจากปิดมานาน ทำให้แรงอั้นที่มีมาก ก็จะทยอยเข้ามาในปี 2565 เป็นต้นไป 


อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้มีปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจแม้จะฟื้นตัว แต่หนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในอัตราที่สูง ขณะที่เศรษฐกิจยังโตไม่ค่อยทันหนี้ กำลังซื้อจึงอยู่ในวงจำกัด,ข่าวในการปลอมแปลงเวชภัณฑ์ และการหลอกลวง  ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน ,ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทางการแพทย์ค่อนข้างสูงในปัจจุบัน ทั้งการทำเข้าเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ , ในปี 2565 ยังไม่แน่นอนว่าชาวต่างชาติจะสามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้หรือไม่ แม้จะมีการให้วีซ่าพิเศษสำหรับต่างชาติที่ต้องการเข้ามารักษาตัวในไทยแล้วก็ตาม 


ธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 1 ในปีนี้ ด้วยคะแนน 95.5 เท่ากัน คือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขายของออนไลน์ และเป็นอันดับ 1 มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ร โดย ปี 2563 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซโต ตัวเลขจากสมาคมอีคอมเมิร์ซ ระบุ โตร้อยละ 21  ขณะที่ปีนี้เอง คาดการณ์เติบโตอีกร้อยละ 21 ด้วยมูลค่า 3.65 แสนล้านบาท  ซึ่งปัจจัยหลักๆที่สนับสนุนได้แก่พฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเรื่อยๆ  ซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงช่องทางการชำระเงินผ่านออนไลน์หลากหลาย ที่ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ทั้งคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน มีผลต่อการกระตุ้นการใช้โมบายแบงก์กิ้งของผู้บริโภคไทยด้วย  


แม้จะเป็นธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 1 แต่ก็มีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน ข้อแรก คือ ความพยายามของภาครัฐ ที่ต้องการจัดเก็บภาษีธุรกิจการค้า , ปัญหาการหลอกขายสินค้าไม่มีคุณภาพ สินค้าไม่ตรงปก หรือ ส่งกล่องเปล่าก็มีเป็นข่าวมาแล้ว เรื่องนี้กระทบความเชื่อมั่นธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างมาก  การแข่งขันที่รุนแรงจากทั้งคู่แข่งเดิม และคู่แข่งรายใหม่ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เข้ามาแข่งมากขึ้นในตลาดอีคอมเมิร์ซ และยิ่งการแข่งขันสูงก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรต่ำ จนถึงขาดทุนได้ในที่สุด

ภาพประกอบ:AFP

อันดับ 2 ธุรกิจแพลตฟอร์ม ตัวกลางหรือตลาดกลางด้านอิเล็กทรอนิกส์ คะแนน 94.8 ห่างกันไม่ถึง 1 คะแนนจากอันดับ 1 ปัจจัยสนับสนุนก็จะคล้ายกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะพฤติกรรมของคน เริ่มชินกับการซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซแล้ว , ธุรกิจแพลตฟอร์มเอง มีการพัฒนาที่หลากหลาย และสำคัญที่สุด คือ ตอบโจทย์ผู้บริโภค ให้สามารถใช้งานง่าย , การส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มของคนไทย ซึ่งมีการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ และเอกชน และสุดท้าย แนวโน้มธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  ส่วนปัจจัยเสี่ยงในธุรกิจนี้ คือยังมีขาดทุนให้เห็น เพราะต่างฝ่ายต่างก็แข่งขันกันพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเอง ให้เหนือกว่าคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง , ในทางกลับกับ บุคคลากรผู้เชี่ยวชาญ ดิจิทัลเทคโนโลยียังน้อย , และความไม่ชัดเจนของกฎหมายด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง  สิ่งที่เป็นข่าว และน่ากังวลมากที่สุดคือ ข้อมูลส่วนบุคคลในธุรกิจนี้หลุดให้เห็นบ่อยๆ ทำให้ความเชื่อมั่นอาจลดลง , การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อเนื่อง ก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง และสุดท้ายคือ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี 


ธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 3 คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ เดลิเวอรี่ และคลังสินค้า ต้องบอกว่า เป็นห่วงโซอุปทานของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เมื่ออีคอมเมิร์ซโต ธุรกิจนี้ก็โตตามไปด้วย พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น , มีแพลตฟอร์มรองรับ ทั้งการเดินทาง สั่งอาหาร ส่งสินค้ามากมายในปัจจุบัน , การเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค ทำให้มีการขนส่งมากขึ้น , การอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งสินค้าให้ง่ายขึ้น ห้างฯ ต้องเตรียมที่สำหรับ bike man คอนโดยุคใหม่เอง ก็ต้องคิดเรื่องการขนส่งแบบเดลิเวอรี่ เช่นกัน , เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 และการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้ง คนละครึ่ง , เราเที่ยวด้วยกัน 


ปัจจัยเสี่ยง คือ การแข่งขัน และคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นในตลาดอีคอมเมิร์ซ , โควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ หรือ ประเทศต่างๆ ที่ทำให้ต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น , ระยะเวลาในการจัดส่ง และนำเข้าสินค้า นานมากขึ้น หากการแพร่ระบาดโอมิครอนรุนแรงจนต้องมีมาตรการคุมเข้ม และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ยังไม่แล้วเสร็จ , และต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้นในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เช่น ราคาพลังงาน น้ำมัน ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น 


อันดับ 3 ร่วมคือ  ธุรกิจด้านฟินเทค ระบบในการชำระเงินผ่านเทคโนโลยี โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ นโยบายการยกเว้นค่าธรรมเนียมทางการเงิน การโอน การชำระเงิน ต่างๆ , การพัฒนาแหล่งชำระเงิน ตามร้านค้าดั้งเดิม ร้านค้าออนไลน์ต่างๆ , พฤติกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ , นโยบายรัฐ ทั้งคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ทำให้การทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น , การทำธุรกรรมสะดวก ไม่ต้องเดินทางไปสาขาธนาคาร , เทคโนโลยีทันสมัยที่ถูกเสนอผ่าน Mobile Banking ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า , และการชำระเงินซื้อสินค้าออนไลน์ก็เพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ ความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อความปลอดภัยในการใช้บริการแพลตฟอร์ม , ภัยคุกคามทางไซเบอร์ , ข่าวเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการปลอมแปลงหน้าตาแอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงิน 


อันดับ 4 ธุรกิจประกัน ทั้งประกันภัย และประกันชีวิต จะกลับมา เนื่องจากคนห่วงเรื่องสุขภาพมากขึ้น , ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา การขายเภสัชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ , ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์  

อันดับ 5 ธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ และธุรกิจขายตรง

อันดับ 6 ธุรกิจแปรรูปยาง ทั้งถุงมือยาง และถุงยาง , และธุรกิจอาหารสำเร็จรูป 

อันดับ 7 ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ Youtuber และการรีวิวสินค้า , ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์สำเร็จรูป การดูแลสุขภาพสัตว์ 

อันดับ 8 ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม , ธุรกิจโมเดิลเทรด ค้าปลีกสมัยใหม่ 

อันดับ 9 ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน 

และอันดับ 10 ธุรกิจเพื่อความบันเทิง เช่น Netflix และแพลตฟอร์มคอนเทนต์อื่นๆ , ธุรกิจยานยนต์ , ธุรกิจก่อสร้าง และอสังหาฯ แนวราบ , และที่สำคัญธุรกิจท่องเที่ยว และบริการต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะกลับมาฟื้นหลังทยอยเปิดประเทศ 

ภาพประกอบ:AFP

ส่วนธุรกิจที่น่าเป็นห่วง หรือ 10 อันดับ ธุรกิจดาวร่วง แห่งปี 65 ใครเป็นเจ้าของธุรกิจอาจต้องมองหาทางปรับตัว และใครเป็นพนักงานก็คงต้องหาลู่ทางที่เหมาะสมเอาไว้บ้าง ที่ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย  วัดจากคะแนน ทั้งยอดขาย ต้นทุน กำไร โอกาส ยิ่งคะแนนน้อย ยิ่งเสี่ยง อันดับ 1 คะแนน 9.5 คะแนน หรือ มีความเสี่ยงที่สุด คือ ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐาน และเครื่องโทรสาร สังเกตุจากบ้านเรา และที่ทำงาน ไม่มีการใช้โทรศัพท์พื้นฐาน และโทรสารกันแล้ว 

อันดับ 2 ธุรกิจฟอกย้อม และธุรกิจหัตกรรมที่ไม่มีการออกแบบ และราคาถูก คะแนน 10.4 คะแนน ปัจจุบันเสื้อผ้านำเข้าจากจีนจำนวนมาก ดูดี และราคาไม่แพง ฟอกย้อม อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป 

อันดับ 3 ธุรกิจสิ่งพิมพ์ วารสาร ธุรกิจรับส่งหนังสือพิมพ์  คะแนน 11.9 

อันดับ 4 ธุรกิจโรงพิมพ์ , ธุรกิจคนกลาง 12.7 คะแนน

อันดับ 5 ธุรกิจผลิตและขายต้นไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ และธุรกิจผ้าโหล 15.5 คะแนน 

อันดับ 6 ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก 17.2 คะแนน 

อันดับ 7 ธุรกิจร้านถ่ายรูป

อันดับ 8 ธุรกิจนำเที่ยวในประเทศ 22.7 คะแนน เห็นชัดเจนจากทัวร์เที่ยวไทย ที่ไม่ประสบความสำเร็จ

 อันดับ 9 ธุรกิจ Call Center 23.8 คะแนน 

และอันดับที่ 10 ธุรกิจของเล่นเด็ก 24.5 คะแนน


นี่คือภาพใหญ่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลกอนาคต ดิจิทัล ออนไลน์ ยังเป็นดาวรุ่ง ดาวค้างฟ้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจอะไรที่ไม่ได้รับความนิยม อยู่ในยุคอนาลอค ก็จะไม่ได้รับความสนใจ และจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องใช้ดิจิทัลในปรับปรุง ทรานฟอร์มธุรกิจตนเองให้สามารถเดินหน้าได้อีกครั้ง 


ที่มา : รายการเศรษฐกิจ Insight , มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ภาพประกอบ:AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง