รีเซต

โควิด-19 : เมื่อกฎหมายช่วยบริษัทไม่ต้องจ่ายภาษี เศรษฐีทั่วโลกจึงออกมาเรียกร้องให้คนรวยจ่ายภาษีมากขึ้น

โควิด-19 : เมื่อกฎหมายช่วยบริษัทไม่ต้องจ่ายภาษี เศรษฐีทั่วโลกจึงออกมาเรียกร้องให้คนรวยจ่ายภาษีมากขึ้น
บีบีซี ไทย
17 กรกฎาคม 2563 ( 09:12 )
134
โควิด-19 : เมื่อกฎหมายช่วยบริษัทไม่ต้องจ่ายภาษี เศรษฐีทั่วโลกจึงออกมาเรียกร้องให้คนรวยจ่ายภาษีมากขึ้น

Getty Images

การระบาดใหญ่ของโรคโควิด -19 ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก

วิกฤตที่เกิดขึ้นยังทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องจัดสรรงบประมาณมหาศาลเพื่อจัดการกับโรคระบาด รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้ได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์นี้

แต่ใครจะเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายที่ว่านี้

ปัจจุบันมีกระแสเรียกร้องให้บรรดาคนร่ำรวยที่สุดในโลกเข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ แม้นี่จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในวิกฤตครั้งนี้ได้มีแรงสนับสนุนมากขึ้นจากกลุ่มผู้มั่งคั่งที่สุดในสังคมเอง

กลุ่มมหาเศรษฐี 83 คน ออกจดหมายเปิดผนึกในสัปดาห์นี้ เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ดำเนินมาตรการให้กลุ่มผู้มีฐานะร่ำรวยอย่างพวกเขา เสียภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้โลกฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้

"ฉับพลัน ยั่งยืน ถาวร" พวกเขาระบุในจดหมาย "ในขณะที่โรคโควิด -19 ได้จู่โจมโลก เศรษฐีเงินล้านอย่างพวกเรามีบทบาทสำคัญในการเยียวยาโลกของเรา"

Getty Images
อบิเกล ดิสนีย์ ทายาทธุรกิจบันเทิงวอลต์ดิสนีย์ คือหนึ่งในคนรวยกลุ่ม UHNWI ที่ระบุว่าคนรวยควรเสียภาษีเพิ่ม

หนึ่งในกลุ่มผู้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้คือนายมอร์ริส เพิร์ล นักการธนาคารชาวอเมริกันที่ครั้งหนึ่งเคยนั่งแท่นบริหาร BlackRock บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

"ไม่ใช่ว่าผมอยากจะเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือว่าเห็นแก่ผู้อื่นมากกว่าใคร ๆ" นายเพิร์ล ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับบีบีซีจากนครนิวยอร์ก

"ผู้คนกำลังอดอยาก หรือไม่มีเงินพอจะยังชีพ"

ตั้งแต่ปี 2013 นายเพิร์ล ได้เข้าร่วมกลุ่ม "เศรษฐีเงินล้านรักแผ่นดิน" (Patriotic Millionaires) ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ผลักดันให้กลุ่มมหาเศรษฐี ตลอดจนทางการสหรัฐฯ ให้ความสนใจและดำเนินการให้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ ซึ่งรวมถึงการเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีประเภทใหม่เกี่ยวกับความมั่งคั่ง

"ผมไม่อยากอาศัยอยู่ในที่ที่มีคนรวยอยู่ไม่กี่คน และมีคนจนอยู่มากมาย ผมไม่ได้เติบโตมาในสภาพเช่นนั้น และไม่ใช่สภาพที่ผมอยากให้ลูกหลานของผมเติบโตขึ้นมา"นายเพิร์ล กล่าว

BBC

นิยามความรวยของ "มหาเศรษฐี"

มหาเศรษฐีที่ว่านี้ คือคำกว้าง ๆ ที่ใช้เรียกกลุ่มคนรวย ซึ่งในโลกการเงินเรียกว่า "ผู้มั่งคั่งสูงพิเศษ" (ultra-high net-worth individuals หรือ UHNWI) ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีทรัพย์สินสำหรับการลงทุนอย่างน้อย 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (930 ล้านบาท) ขึ้นไป

รายงานประจำปี 2019 เกี่ยวกับ UHNWI ของ เครดิต สวิส กลุ่มธุรกิจการเงินระดับโลก สัญชาติสวิส คาดการณ์ว่า คนกลุ่มนี้มีอยู่ราว 5 แสนกว่าคนในโลก หรือมีสัดส่วนเพียง 0.003% ของประชากรโลก ทว่ากลับครอบครองความมั่งคั่ง 13% ของโลก

Getty Images
มหาเศรษฐีควรมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากวิกฤตโควิด-19 หรือไม่

ในขณะที่ประชากรวัยผู้ใหญ่ส่วนมากในโลก (จำนวนเกือบ 3 พันล้านคน) มีทรัพย์สินส่วนตัวมูลค่าไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

แล้วเหล่ามหาเศรษฐีเหล่านี้อาศัยอยู่ที่ใดบ้าง

ข้อมูลจาก ไนท์แฟรงค์ บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังในสหราชอาณาจักร ประเมินว่า คนรวยกลุ่ม UHNWI ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ (ราว 240,000 คน) ตามด้วยจีน (61,500 คน) เยอรมนี (23,000 คน) และฝรั่งเศส (18,700 คน)

BBC

"ผู้มั่งคั่งสูงพิเศษ"เสียภาษีมากจริงหรือ

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจว่าเหตุใดประเด็นนี้จึงสำคัญ แต่พูดง่าย ๆ ก็คือ ภาษี คือแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับรัฐบาลทุกประเทศในโลก

โดยหลักการแล้ว รัฐบาลจะนำเงินภาษีที่เก็บได้ไปใช้แก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยการลงทุนในระบบสาธารณสุข การศึกษา และด้านอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ระบบภาษีอากร มีความซับซ้อน และแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

หลักการทั่วไปคือ บุคคลร่ำรวยกว่าควรต้องเสียภาษีเงินได้มากกว่า แต่หลักการนี้อาจไม่ได้ใช้กับความร่ำรวยของบุคคล ซึ่งหมายถึงมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของ เช่น บ้าน หรือหุ้น

Getty Images
ภาษีคือแหล่งรายได้ที่สำคัญของทุกประเทศ

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่มีการเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่ง และนี่คือภาษีเพิ่มเติม ที่กลุ่มมหาเศรษฐี 83 คน ต้องการให้รัฐบาลเรียกเก็บเพิ่มจากคนรวยกลุ่ม UHNWI เพื่อนำไปใช้บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ผลการศึกษาของศาสตราจารย์ เอ็มมานูเอล ซาเอซ และศาสตราจารย์กาเบรียล ซัคแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า ในปี 2017 ชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ 400 ครอบครัว เสียภาษีเงินได้ในอัตรา 23% ขณะที่ครอบครัวผู้ยากจนที่สุดในประเทศเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 24%

เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้

ศาสตราจารย์ ซาเอซ และศาสตราจารย์ ซัคแมน ระบุว่านี่เป็นเพราะการลดภาษีต่าง ๆ ให้แก่คนรวย ที่ได้รับการอนุมัติจากผู้บัญญัติกฎหมายในสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

Getty Images

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนร่ำรวยที่สุดที่มีสัดส่วน 1% ของประชากรในประเทศจึงเสียภาษีน้อยกว่าครอบครัวชาวอเมริกันที่ยากจน

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนรวยในหลายประเทศที่ต้องเสียภาษีเยอะกว่าคนทั่วไป เช่น สวีเดน ที่คนกลุ่มนี้ถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้ในอัตราเกือบ 60%

คนรวยไม่ได้จ่ายภาษีเข้ารัฐมากกว่าคนจนหรือ

ก็จริงอยู่ แต่ครอบครัวฐานะยากจนกว่าต้องเสียสละมากกว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ว่าพวกเขามีรายได้น้อยกว่ามาก

นอกจากนี้ มหาเศรษฐีบางคนยังอาศัยกลไกทางบัญชีและทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อให้ได้รับการลดหย่อนภาษี หรือที่เรียกว่า การหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งอาจรวมถึง การโยกย้ายเงินไปไว้ใน "ดินแดนสวรรค์แห่งการหลบเลี่ยงภาษี" (tax haven) ซึ่งหมายถึงประเทศหรือภูมิภาคที่มีการเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำหรือไม่มีเลย

Getty Images
หมู่เกาะเคย์แมน ในทะเลแคริบเบียน มีชื่อเสียงในฐานะแหล่งหลบเลี่ยงภาษีของคนรวย

เหตุใดรัฐบาลจึงไม่เรียกเก็บภาษีมหาเศรษฐีเพิ่ม

เหตุผลหนึ่งคือการเรียกเก็บภาษีเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางการเมือง และสร้างการแบ่งฝักฝ่ายในสังคมมาตลอดทุกยุคสมัย อีกทั้งยังเป็นประเด็นชี้เป็นชี้ตายในการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม น.ส.เฮเลน มิลเลอร์ รองผู้อำนวยการสถาบันอิสระเพื่อการคลังศึกษา (The independent Institute for Fiscal Studies) ในกรุงลอนดอน และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายภาษี กล่าวว่า "การมุ่งเป้าไปที่เฉพาะกลุ่มผู้มั่งคั่งสูงพิเศษไม่ใช่ทางออกสำหรับประเทศทั้งหลาย เพราะคนกลุ่มนี้มีอยู่ไม่มาก"

"ดิฉันไม่ได้พูดว่า 'อย่าไปยุ่งกับพวกเขา ' แต่เราควรจะมีการปฏิรูประบบภาษีให้เป็นวงกว้างขึ้น"

แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการเรียกเก็บภาษีกลุ่มผู้มั่งคั่งสูงพิเศษแม้เพียงเล็กน้อยก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก

หนึ่งในนั้นคือ วุฒิสมาชิก เอลิซาเบธ วอร์เรน อดีตผู้ท้าชิงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ ที่ได้เคยเสนอแผนการเมื่อปีที่แล้ว ให้มีการเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่ง ต่อครอบครัวที่มีทรัพย์สิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะช่วยนำเงินเข้ารัฐได้ถึง 2.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 10 ปี

แม้ปัจจุบัน วุฒิสมาชิกวอร์เรน จะได้ถอนตัวจากการท้าชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตไปแล้ว แต่ผู้ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคตัวจริงอย่างนายโจ ไบเดน ก็ประกาศแผนการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากกลุ่มคนรวยที่สุดของประเทศเช่นกัน

Getty Images
วุฒิสมาชิก วอร์เรน เคยเสนอแผนการเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่ง ต่อครอบครัวที่มีทรัพย์สิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป

มหาเศรษฐีคิดอย่างไรหากต้องจ่ายภาษีมากขึ้น

ผลการสำรวจความคิดเห็นจากทั่วโลกเผยให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการขึ้นภาษีต่อกลุ่มคนรวย ซึ่งแม้แต่คนรวยเองก็เห็นด้วยเช่นกัน

ผลสำรวจจากช่องข่าวธุรกิจ CNBC ของสหรัฐฯ ที่ทำขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ราว 60% ของเศรษฐีเงินล้านในสหรัฐฯ สนับสนุนให้มีการเก็บภาษีความมั่งคั่งจากผู้มีทรัพย์สินตั้งแต่ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้นไป

Getty Images
ผลสำรวจชี้มหาเศรษฐีส่วนใหญ่เห็นด้วยการกับการจ่ายภาษีมากขึ้น

แต่ก็มีบางคนที่มองว่าการเรียกเก็บภาษีลักษณะนี้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

นายไมเคิล บลูมเบิร์ก มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก แสดงความเห็นคัดค้านต่อเรื่องการเก็บภาษีความมั่งคั่งเมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว

"เราต้องการเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และเราไม่ควรละอายกับระบบของเรา"

"หากคุณอยากดูเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ระบบทุนนิยม ก็ลองดูประเทศที่เคยเป็นชาติร่ำรวยที่สุดในโลก แต่ทุกวันนี้ผู้คนกำลังจะอดตาย ซึ่งมีชื่อว่า เวเนซุเอลา"

มหาเศรษฐีก็ล้วนแต่ใจบุญใจกุศลมิใช่หรือ

อันที่จริงก็มีมหาเศรษฐีหลายคนที่ให้การสนับสนุนงานการกุศลและช่วยเหลือสังคม

หนึ่งในบุคคลที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ นายบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ และเมลินดา ภรรยาของเขา ที่ตั้งแต่ปี 1994 ได้บริจาคเงินราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการกุศล เช่น การวิจัยและพัฒนาวัคซีน

Getty Images
ตั้งแต่ปี 1994 บิล เกตส์ และเมลินดา ภรรยา ได้บริจาคเงินราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการกุศล

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเสียงเรียกร้องให้มหาเศรษฐีเหล่านี้เสียภาษีเพิ่มมากกว่าการบริจาคเงินเพื่อการกุศล โดยกลุ่มผู้วิจารณ์อ้างว่า หน่วยงานที่รู้ดีที่สุดในการตัดสินใจเรื่องการใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ คือ รัฐบาลไม่ใช่องค์กรการกุศล และชี้ว่าเงินบริจาคอาจมีข้อผูกมัดจากเจ้าของเงินด้วย เช่น เหตุผลทางศาสนา หรือ การเมือง

นอกจากนี้ การบริจาคเงินเพื่อการกุศลยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการลดหย่อนภาษีได้ด้วย

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ธุรกิจทั่วโลกต้องเสียภาษีจากผลกำไรที่ได้รับ แต่ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้กลายเป็นประเด็นที่จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมจากกรณีที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ เสียภาษีเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่เสียภาษีเลยจากการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย การยกเว้นภาษี หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

BBC
เจฟฟ์ เบซอส ซึ่งมีทรัพย์สินราว 1.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีรายได้เพิ่มอีกหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงโควิด-19 ระบาด

นิตยสารฟอร์บส รายงานว่า เมื่อปี 2018 แอมะซอน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของนายเจฟฟ์ เบซอส บุคคลร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์โลกยุคปัจจุบัน ไม่ได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เลยแม้แต่เซนต์เดียว

อันที่จริง แอมะซอน ไม่ใช่เพียงรายเดียวที่ทำเช่นนี้ในปี 2018 แต่ธุรกิจยักษ์ใหญ่รายอื่นอีกราว 90 บริษัทก็ทำเช่นกัน อาทิ สตาร์บัคส์, ไอบีเอ็ม และเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งต่างได้ประโยชน์จากโครงการลดภาษีที่ได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

"บริษัทหลายแห่งต่างพยายามหลบเลี่ยงกฎระเบียบให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย" น.ส.เฮเลน มิลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีกล่าว

"สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ" เธอสรุป

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง