'รัฐบาล' โชว์ตัวเลข บริหารจัดการหนี้สาธารณะ
เมื่อวันที่ 19 มกราคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้ทำการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นส่งความสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 1.90 ต่อปี เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน ซึ่งเริ่มจำหน่ายวันแรก เมื่อวันที่ 17 มกราคม เป็นการจำหน่ายให้กับประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สามารถจำหน่ายได้หมดใน 2 วัน โดยวันแรกจำหน่าย 27,000 ล้านบาท และวันที่สอง 3,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นคนไทยให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ทำให้รัฐบาลใช้ช่องทางในการระดมทุนหรือกู้เงินในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยดอกเบี้ยก็จะไหลกลับเข้าสู่ประชาชนคนไทยภายในประเทศ
น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงการคลัง โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ได้รายงานด้วยว่า ในการจำหน่ายพันธบัตรครั้งนี้มีการลงทุนผ่าน Internet และ Mobile Banking เพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดและวิถีการทำธุรกรรมทางการเงินที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ณ ปัจจุบัน “ต่อข้อกังวลเรื่องระดับหนี้สาธารณะนั้น กระทรวงการคลังให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมีความสามารถในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ซึ่งหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 มีจำนวน 9.62 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 59.58 เปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลังแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ (Debt affordability) โดยติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีอย่างใกล้ชิด
น.ส.รัชดา กล่าวว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากลได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ Stable Outlook ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจค่อนข้างมากภายใต้สถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและมุมมองความน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 Fitch Ratings รายงานว่าภาคการคลังของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง ความเสี่ยงภาคการคลังสาธารณะจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐบาลได้รับการบริหารจัดการ โดยกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะที่เข้มแข็ง