รีเซต

30 มี.ค. วันไบโพลาร์โลก ไทยป่วยพุ่งกว่า 3 หมื่นคน กรมสุขภาพจิตชี้รู้เร็วรักษาเร็ว

30 มี.ค. วันไบโพลาร์โลก ไทยป่วยพุ่งกว่า 3 หมื่นคน กรมสุขภาพจิตชี้รู้เร็วรักษาเร็ว
ข่าวสด
30 มีนาคม 2564 ( 18:43 )
147

30 มี.ค. วันไบโพลาร์โลก ไทยป่วยพุ่งกว่า 3 หมื่นคน อนุทิน จี้ลดการตีตราผู้ป่วน ด้านกรมสุขภาพจิตชี้รู้เร็วรักษาเร็ว ลดโอกาสในการเกิดซ้ำของวงรอบต่อไป

 

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 ที่ รพ.ศรีธัญญา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมแถลงข่าว World Bipolar Day "เปิดใจให้ไบโพลาร์" โดยนายอนุทิน กล่าวว่า โรคไบโพลาร์หรืออารมณ์สองขั้ว เหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ ใกล้ตัวมาก พบได้บ่อยถึงร้อยละ 1.5-5 หากคิดตามสัดส่วนประชากรไทยน่าจะมีคนป่วยมากกว่า 3 หมื่นคน และยังเป็นการเจ็บป่วยอันดับต้นๆ ของโรคทางจิตเวช สิ่งสำคัญคือ ไม่มีอาการ ไม่มีบาดแผลทางกายให้เห็น แต่เป็นบาดแผลในใจฝังลึกกว่าที่แพทย์หรือจิตแพทย์จะรู้

 

 

"โรคอารมณ์สองขั้ว จริงๆ แล้วผู้ป่วยมีความสูญเสียในตัวของเขาที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น บางทีทำงานไม่ได้ คลุ้มคลั่ง ทำร้ายคนอื่น แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือทำร้ายตัวเอง ซึ่งคนที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชมีโอกาสที่จะทำร้ายตัวเองมากกว่าบุคคลปกติ" นายอนุทินกล่าวและว่า ดังนั้นสิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการมากที่สุดคือ ลดการตีตรา เป็นภารกิจหลักของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างเหมาะสมและกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขเช่นเดิม

 

 

ด้าน พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า โรคไบโพลาร์อาจจะยังเป็นที่ไม่รู้จักมากนัก ทำให้มุมมองและทัศนคติไม่ตรงกับตัวโรค โดยผู้ป่วยจะมีภาวะอารมณ์ที่แปรปรวน อารมณ์สองขั้ว บางครั้งออกดูครึกครื้นกว่าปกติ เรียกว่า แมเนีย (Mania Hypomania) สลับกับภาวะอารมณ์ซึมเศร้า (Major Depressed Episode) สลับไปมา บางครั้งอาจทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจ ส่งผลต่อทัศนคติว่าผู้ป่วยเป็นคนที่ไม่ดูแลตนเอง ควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงเป็นที่มาในกลุ่มจิตแพทย์เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และกำหนดให้วันที่ 30 มี.ค. เป็น "วันไบโพลาร์โลก" เพื่อพูดเรื่องนี้กับสังคม ทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น โดยตัวเลขตามทางระบาดวิทยา พบผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ประมาณร้อยละ 1.5 ถึง 5 เกิดมาจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีความเครียดสะสมและในบางรายอาจเกิดจากพันธุกรรมได้

 

 

"สัญญาณของโรคที่สามารถสังเกตได้คือ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่นหากผู้ป่วยเป็นคนที่พูดเก่งอยู่แล้ว ทำงานเยอะอยู่แล้ว เมื่อมีอาการแมเนีย ก็จะทำได้ทั้งคืนไม่หลับไม่นอน กระตือรือร้นเกินปกติ ใช้จ่ายมากกว่าปกติ และในบางรายที่มีอารมณ์สองขั้วก็จะมีเปลี่ยนเป็นอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และในช่วงที่มีอารมณ์ซึมเศร้าก็อาจจะส่งผลต่อการฆ่าตัวตายได้"

 

 

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า อาการในแต่ละรอบของโรค อาจจะเป็นอยู่นานถึงสัปดาห์หรือรายเดือนก็ได้ ดังนั้น การรู้เร็วรักษาเร็ว ก่อนที่จะมีภาวะอาการเกิดขึ้นในอีกวงรอบหนึ่งของโรค เพื่อลดโอกาสในการเกิดซ้ำของวงรอบต่อไป ไปจนถึงการรักษาที่ต่อเนื่อง ไม่ขาดยา ซึ่งการใช้ยาก็จะเป็นไปตามความคิดเห็นของจิตแพทย์ด้วย แต่หากมีการขาดยาจำนวนรอบของโรคก็จะสั้นลง ผู้ป่วยก็จะมีอาการได้บ่อยขึ้น

 

 

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด19 กระทบต่อผู้ป่วยเช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกชนิด เมื่อมีการระบาดโควิด ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชจำนวนหนึ่งขาดโอกาสในการไปสถานพยาบาลมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายประเทศก็พูดเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมฯ ทำระบบข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยรายบุคคล เพื่อให้ทุกคนอยู่ในระบบการรักษา ไม่ว่าผู้ป่วยไปยังพื้นที่ใดก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้ เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชส่วนหนึ่งไม่สามารถอยู่กับที่ได้ อาจต้องมีการเคลื่อนย้ายตามผู้ดูแล ซึ่งเกิดขึ้นกับคนไข้เราเสมอ จึงต้องมีการทำระบบข้อมูลส่วนบุคคลตรงนี้ เพื่อไปสู่นโยบายการรักษาทุกที่ในส่วนของผู้ป่วยจิตเวช

 

 

นอกจากนี้ กรมฯ จะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในการจัดกองทุนยาจิตเวช เพื่อจัดระบบการสต๊อกยา เพราะหากไปอยู่ในพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งการจะสต๊อกยาไว้ในโรงพยาบาลชุมชนอาจค่อนข้างยาก เพราะมีต้นทุนอยู่ จึงต้องบริหารจัดการตรงนี้ไม่ให้ขาดยา และให้มียาใกล้กับผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง