"วันหยุด"มากไป "ฝรั่งเศส"ชงยุบ ปั๊ม ศก.-ลดหนี้

กลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันในฝรั่งเศส หลังจากนายกรัฐมนตรีฟรองซัวส์ เบย์รู เสนอยกเลิกวันหยุดทางการ 2 วัน ได้แก่ วันอีสเตอร์ มันเดย์ และวันรำลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป 8 พฤษภาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชุดมาตรการปรับลดรายจ่ายครั้งใหญ่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณ และแก้ปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจฝรั่งเศสที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป (EU) แทบจะไม่ขยายตัวนับตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด โดยทุก ๆ วินาที หนี้สินของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นราว 5,000 ยูโร และเฉพาะภาระดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะทะลุ 1 แสนล้านยูโรต่อปี ภายใน 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการใช้จ่ายด้านกลาโหม
ข้อเสนอยุบวันหยุดดังกล่าวมาจากแนวคิดว่า การทำงานเพิ่มขึ้นอีก 2 วันจะช่วยเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจและรายได้ให้กับรัฐบาล แต่ในทางกลับกัน แนวคิดนี้ก็ปลุกกระแสคัดค้านในหมู่ประชาชนและพรรคการเมืองต่าง ๆ เพราะชาวฝรั่งเศสจำนวนมากให้ความสำคัญกับวันหยุดตามประเพณีที่ฝังรากมายาวนาน คล้ายกับวัฒนธรรมการดื่มไวน์ ขณะเดียวกัน จำนวนวันหยุดในฝรั่งเศสไม่ได้มากกว่ามากนักหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป และยังน้อยกว่าหลาย ๆ ประเทศนอกภูมิภาค โดยฝรั่งเศสมีวันหยุดทางการตามกฎหมาย 11 วัน แต่ในบางภูมิภาคจะมีวันหยุดทั้งหมด 13 วัน
ข้อมูลจากสำนักงานการจ้างงานแห่งยุโรป (European Employment Authority-EURES) ที่รวบรวมข้อมูลใน EU ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า วันหยุดใน EU เฉลี่ยอยู่ที่ 11 วัน ขณะที่สโลวาเกียมีจำนวนวันหยุดทางการมากสุดในยุโรป อยู่ที่ 15 วัน ส่วนเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์กและสเปน อยู่กลุ่มที่มีจำนวนวันหยุดน้อยสุดที่ 9 วัน
ข้อมูลจาก “รอยเตอร์ส” ระบุว่า เนปาลเป็นประเทศที่มีวันหยุดทางการมากที่สุดในโลก จำนวน 35 วันต่อปี ส่วนอีกหลายประเทศที่มีวันหยุดมากรองลงมาที่ราว ๆ 18 วัน ได้แก่ อินเดีย โคลอมเบีย และฟิลิปปินส์ ส่วนอังกฤษและแคนาดามีวันหยุดน้อยกว่า 10 วันต่อปี ถือเป็นกลุ่มที่มีวันหยุดน้อยที่สุด สำหรับสหรัฐฯ มีวันหยุดรัฐบาลกลาง 12 วัน ขณะที่จีนมีวันหยุดทางการเพียง 7 วัน
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝรั่งเศสเสนอหั่นจำนวนวันหยุดเพื่อปลุกเศรษฐกิจ ในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว และได้ผลในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างสมัยนายกรัฐมนตรีฌ็อง-ปิแอร์ ราฟาแรง ที่เปลี่ยนวันหยุด “วิต มันเดย์” (Whit Monday) เป็น “วันแห่งความสามัคคี” ที่ผู้คนจะต้องทำงานและนำเงินค่าจ้างที่ได้รับไปจ่ายให้รัฐบาลสำหรับเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการ
นอกจากนี้ ฝรั่งเศสก็ไม่ใช่ประเทศแรกที่มีแนวคิดลดจำนวนวันหยุด ก่อนหน้านี้ สถาบันคลังสมอง IFO ของเยอรมนีก็เสนอให้ทางการลดจำนวนวันหยุดจากที่มีอยู่ 12 วัน เพื่อเสริมแกร่งเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้ชาวเยอรมันต้องทำงานหนักขึ้น เพราะรัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรีฟรีดดริช แมร์ซ ไม่สามารถพึ่งพาการกู้ยืมและเพิ่มงบประมาณได้ IFO ประเมินว่าการทำงานเพิ่มขึ้น 1 วันจะเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจได้ราว 8 พันล้านยูโรต่อปี ส่วนในปี 2566 เดนมาร์กยกเลิกวันหยุดทางศาสนา 1 วัน และโปรตุเกสก็เคยยุบวันหยุด 4 วันในช่วงวิกฤตหนี้ปี 2555 ก่อนจะกลับมาหยุดอีกใน 4 ปีต่อมา
ที่จริงแล้ว แนวคิดลดจำนวนวันหยุดเพื่อเพิ่มเวลาการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ให้กับรัฐบาล ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน ในด้านหนึ่งก็มีเหตุผลสนับสนุน ข้อมูลจากสถาบันมงแตญ (Institut Montaigne) ระบุว่า วันหยุดแต่ละวันทำให้เศรษฐกิจสูญเสียผลิตภาพ (productivity) ไปราว 2.5 พันล้านยูโร หากเพิ่มเป็น 2 วัน ตัวเลขเหล่านี้ก็เริ่มน่าพิจารณาสำหรับกระทรวงการคลังที่ต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาหนี้และแรงกดดันด้านวินัยการคลัง
ในทางกลับกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยประเมินไว้ว่า ผลจากการลดจำนวนวันหยุดลงอาจช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ราวร้อยละ 0.01-0.06 ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของสำนักงานสถิติฝรั่งเศส (Insee) ที่ประเมินว่าข้อเสนอล่าสุดในการลดจำนวนวันหยุดของนายกฯ ฝรั่งเศสจะช่วยปลุกเศรษฐกิจได้ราวร้อยละ 0.06
วันหยุดอาจลดทอนความสามารถในอุตสาหกรรมการผลิตลง แต่ก็จะกระตุ้นอุตสาหกรรมอื่น ๆ แทน อาทิ การท่องเที่ยว ผลการศึกษาของศูนย์ศึกษาตลาดแรงงานในมาเลเซียที่วิเคราะห์ข้อมูลใน 101 ประเทศ เมื่อปี 2566 พบว่า จำนวนวันหยุดที่เหมาะสมอยู่ราว ๆ 9-10 วันต่อปี โดยจำนวนวันหยุดที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วยแรก แต่หากผ่านจุดเหมาะสมไปแล้ว แม้จำนวนวันหยุดจะเพิ่ม การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเริ่มลดลง ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ อย่างกรณีของ “อิตาลี” ที่พึ่งพาภาคบริการ และมีวันหยุดเฉลี่ย 12 วันต่อปี พบว่า ผลิตภาพทางเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลงหรือสูงขึ้นในปีที่มีวันหยุดเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าจำนวนวันหยุดดังกล่าวอยู่ในจุดที่เหมาะสม
เหตุผลที่ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องเสนอมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหญ่ เนื่องจากตัวเลขขาดดุลงบประมาณในปี 2567 อยู่ที่ 1.68 แสนล้านยูโร หรือร้อยละ 5.8 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของ EU ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 โดยวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้รัฐบาล 4 ชุดที่ผ่านมาไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก รวมทั้งไม่สามารถรับมือกับรายได้จากภาษีที่ลดลง และรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หากไม่สามารถจัดการได้ ฝรั่งเศสอาจเผชิญกับการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและเผชิญภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอีก
รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งเป้าจะลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือร้อยละ 4.6 ของ GDP ในปี 2569 จากที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ของ GDP ในปีนี้ จากนั้นก็จะฉุดการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ภายในเกณฑ์ร้อยละ 3 ของ EU ให้ได้ภายในปี 2572 แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแผนหั่นรายจ่ายล่าสุดมีแนวโน้มจะไม่ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาที่มีความเห็นแตกแยกอย่างรุนแรง และพรรครัฐบาลไม่มีเสียงข้างมากที่จะผลักดันนโยบายได้
สำหรับแผนรัดเข็มขัดล่าสุดตั้งเป้าลดรายจ่ายราว 4.38 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 5.09 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณที่วางไว้ โดยจะมี 2 แนวทางหลัก ๆ คือ มุ่งเน้นการลดหนี้ กับเน้นกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตพร้อมกับการสร้างงาน
ในส่วนลดการขาดดุลและหนี้จะตรึงการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางและทางการท้องถิ่น ยกเว้นด้านกลาโหม รวมถึงจะลดตำแหน่งงานภาครัฐ 3,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะไม่มีการรับทดแทนผู้เกษียณอายุราว 1 ใน 3 นับตั้งแต่ปี 2570 อีกทั้งจะควบรวมงานหรือปิดหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อลดตำแหน่งงาน 1,000-1,500 ตำแหน่ง แผนยังรวมถึงจำกัดรายจ่ายด้านสาธารณสุข จำกัดโครงการยาฟรี รวมทั้งประหยัดงบ 7.1 พันล้านยูโรจากการตรึงรายจ่ายด้านสวัสดิการ ค่าจ้างเจ้าหน้าที่และการเก็บภาษีเงินได้ในปีหน้าให้อยู่ระดับเดียวกับปีนี้ ส่วนอีก 9.9 พันล้านยูโรที่ลดลงมาจากการปราบปรามทุจริต การอุดช่องโหว่ภาษี ปรับโครงสร้างการลดหย่อนภาษีให้ผู้รับบำนาญ ขึ้นภาษีสำหรับผู้มีรายได้สูง
สำหรับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพภาคการผลิต อาทิ ลดวันหยุดทางการ 2 วัน ปฏิรูประบบการจ้างงานเพื่อให้จัดหางานได้เร็วขึ้นและลดกฎระเบียบไม่ให้ยุ่งยาก การสนับสนุนจากภาครัฐจะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความปลอดภัยทางไซเบอร์
สถานการณ์หนี้ของฝรั่งเศสมีความน่ากังวลมากขึ้น และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรีพยายามผลักดันก่อนที่จะสายเกินแก้เหมือนกรณีของ “กรีซ” ก่อนหน้านี้ โดยนับถึงไตรมาส 1 ปี 2568 หนี้สาธารณะของฝรั่งเศสอยู่ที่ 3.345 ล้านล้านยูโร ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 1.85 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่หนี้สาธารณะดังกล่าวมีสัดส่วนร้อยละ 114 ของ GDP เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2538 ที่อยู่ที่ร้อยละ 57.8 ของ GDP ส่งผลให้ปัจจุบันฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้สินมากสุดใน EU
ในปี 2568 ฝรั่งเศสมีภาระการชำระหนี้ 6 หมื่นล้านยูโร ซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณด้านกลาโหมในปัจจุบันที่อยู่ที่กว่า 5.05 หมื่นล้านยูโร ขณะที่หากไม่มีการดำเนินการเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาหนี้มหาศาล ประเมินว่า ภาระดอกเบี้ยอาจจะสูงถึง 1 แสนล้านยูโร ภายในปี 2572
ท่ามกลางปัญหาหนี้ที่น่าเป็นห่วง เศรษฐกิจฝรั่งเศสก็ออกอาการไม่สู้ดี สำนักงานสถิติประเมินว่า การขยายตัวของ GDP ในปีนี้ไม่น่าจะเกินร้อยละ 0.6 เนื่องจากสารพัดความท้าทายกระทบต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจของฝรั่งเศส ทั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัว อัตราการออมที่สูงทำสถิติ การลงทุนที่ยังไม่ฟื้น และการค้าโลกที่อ่อนแอลงจากมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ
เมื่อแยกรายไตรมาส GDP ในไตรมาสแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 แต่ก็พลิกกลับจากไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่หดตัวร้อยละ 0.1 และคาดว่า GDP น่าจะโตแตะร้อยละ 0.2 ในแต่ละไตรมาสที่เหลือของปีนี้ ซึ่งการปรับสมดุลทางการคลังของรัฐบาลกำลังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการลดรายจ่ายของภาครัฐลง
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
