รีเซต

น่าทึ่ง!! ฉีดเซลล์ "สร้างตับใหม่" รักษาโรคได้ไม่ต้องพึ่งพาอวัยวะบริจาค

น่าทึ่ง!! ฉีดเซลล์ "สร้างตับใหม่" รักษาโรคได้ไม่ต้องพึ่งพาอวัยวะบริจาค
TNN ช่อง16
27 สิงหาคม 2565 ( 12:02 )
119

การปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ transplantation) คือหนึ่งในวิธีการรักษาโรคที่เกิดจากการเสื่อมถอยของอวัยวะ เช่น ตับแข็ง, ไตวายระยะสุดท้าย หรือโรคหัวใจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การหาอวัยวะทดแทนยังทำได้ยากและใช้เวลานาน ผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายมักจบชีวิตลงก่อนที่จะได้รับการรักษา

ที่มาของภาพ MIT Technology Review

 


ล่าสุด บริษัทสตาร์ตอัป LyGenesis และ iTolerance คิดค้นวิธีสร้างตับขึ้นมาใหม่ ทดแทนตับเดิมที่เสื่อมสภาพลง โดยไม่ต้องพึ่งพากการปลูกถ่ายอวัยวะ อีกทั้งยังสามารถเจริญเติบโตได้ภายในร่างกายผู้ป่วยพร้อมทำงานทันที!!


กระบวนการดังกล่าว จะอาศัยเซลล์ตับจำนวนหนึ่งจากตับของผู้บริจาค โดยแพทย์จะฉีดเซลล์ตับที่ได้เข้าไปในต่อมน้ำเหลืองในพื้นที่รอบ ๆ ตับเดิมของผู้ป่วย จากนั้นจึงรอให้เซลล์ตับเหล่านี้เริ่มเจริญเติบโตกลายเป็นตับขนาดเล็กที่สามารถทำงานได้ไม่ต่างจากตับเดิม




การทดลองดังกล่าวประสบความสำเร็จทั้งในหมูและหนู นักวิจัยจาก LyGenesis กล่าวว่า ตับจิ๋วที่เจริญเติบโตในต่อมน้ำเหลืองนี้สามารถกำจัดของเสียในร่างกาย รวมถึงสังเคราะห์สารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ไม่ต่างจากตับเดิมของสัตว์เหล่านี้เลยทีเดียว


สำหรับการค้นพบวิธีการสร้างตับใหม่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้น เกิดจากความพยายามของ อีริก ลากาสส์ (Eric Lagasse) นักวิจัยจาก LyGenesis และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์จากมหาวิทยาลัยแห่งพิตส์เบิร์ก โดยเขาได้ศึกษาเทคนิคการรักษาด้วยเซลล์ (Cell therapy) มานานกว่า 10 ปี และเขาเคยทดลองฉีดเซลล์ตับปกติเข้าไปในตับที่เสื่อมถอยของหนู ผลปรากฏว่าเซลล์ตับที่เหลือรอดนั้น คือ เซลล์ที่อยู่ในต่อมน้ำเหลือง จึงกลายเป็นที่มาของงานวิจัยล่าสุด เพื่อสร้างตับชิ้นใหม่ขึ้นมานั่นเอง

ที่มาของภาพ LyGenesis

 

ทั้งนี้ เนื่องจากเซลล์ตับอาจเป็นเซลล์ที่พิเศษกว่าเซลล์ของอวัยวะอื่นในร่างกาย เพราะเซลล์ตับสามารถฟื้นฟูและซ่อมแซมตนเองได้ดี จึงมีโอกาสเจริญเติบโตและสร้างขึ้นใหม่ได้ง่ายกว่าอวัยวะอื่น ๆ ถึงกระนั้น นักวิจัยเชื่อมั่นว่าจะสามารถประยุกต์ใช้เทคนิคนี้กับอวัยวะอื่นได้ แต่อาจมีการปรับแต่งเพื่อเพิ่มโอกาสในการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น


สำหรับการทดลองครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม โดยคาดว่าเซลล์ตับจากผู้บริจาคเพียงรายเดียว สามารถใช้สร้างตับใหม่ให้ผู้ป่วยได้มากถึง 75 ราย ทว่า ทาง LyGenesis และ iTolerance ยังคงต้องติดตามและรวบรวมข้อมูลเสนอแก่องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) เพื่อขออนุญาตทำการทดลองกับมนุษย์ในอนาคต


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง