รีเซต

โตเกียวมารีน ตอกย้ำกลยุทธ์ สังคมสูงวัยชูประกันบำนาญ

โตเกียวมารีน ตอกย้ำกลยุทธ์ สังคมสูงวัยชูประกันบำนาญ
ทันหุ้น
10 กรกฎาคม 2567 ( 15:01 )
25

#โตเกียวมารีนประกันชีวิต #ทันหุ้น โตเกียวมารีน ประกันชีวิต ย้ำความต่างด้วยกลยุทธ์สังคมสูงวัย ชูแบบประกันบำนาญ ช่วยวางแผนการเงิน ชี้ภาครัฐควรสนับสนุนประชาชนวางแผนเกษียณ และควรสนับสนุนด้วยการออกพันธบัตรระยะยาว ล็อกผลตอบแทน เพื่อให้บริษัทประกันได้มีช่องลงทุนระยะยาวที่สอดคล้องกับการจ่ายผลประโยชน์ให้ลูกค้าในระยะยาว

 

ดร.สมโพชน์ เกียรติไกรวัล ประธานที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการและสายงานตัวแทน บริษัท โตเกียวมารีน ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประกันบำนาญเป็นหนึ่งในหลายผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเน้นเสนอกับลูกค้า ด้วยสาเหตุด้านโครงสร้างประชากรไทยทีเปลี่ยนไป ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย ขนาดครอบครัวที่เล็กลง ประชากรคนโสดที่เพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อเข้าสู่วัยชราต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น ดังนั้นการวางแผนด้านการเงินเพื่อให้มีรายได้เพียงพอหลังเกษียณจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

 

“กว่า 15 ปี ในการทำงานร่วมกับ โตเกียวมารีน ประกันชีวิต ผมเน้นย้ำถึงสังคมผู้สูงอายุในไทยมาโดยตลอดจนทำให้ภาพจำของเราโดดเด่นในเรื่องของแบบประกันบำนาญ ที่เข้ามาช่วยลูกค้าวางแผนการเงินหลังเกษียณ ซึ่งภายใต้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความผันผวนสูง การลงทุน หรือออมผ่านประกันชีวิตยังเป็นอีกทางเลือกที่ควรพิจารณา เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ และการันตีผลตอบแทนตามเงื่อนไขสัญญาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์”

 

*ผลตอบแทนปัจจัยท้าทาย

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของแบบประกันบำนาญ คือการบริหารพอร์ตลงทุนที่หาผลตอบแทนได้สอดคล้องกับแบบประกันระยะยาว ภายใต้กรอบการลงทุนที่หน่วยงานกำกับอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. กำหนด โดยมากจึงลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตร หุ้นกู้ที่มีเครดิต

 

“ในมุมของผมการหาผลตอบแทนให้สอดคล้องกับประกันแต่ละประเภทก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องดูว่าผลตอบแทนจากดอกเบี้ยอยู่ที่เท่าไร สามารถประมูลหรือลงทุนได้เท่าไร ถึงจะรู้ว่าเราสามารถรับประกัน หรือความคุ้มครองให้ลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในแบบประกันบำนาญที่ต้องผูกกับพันธบัตรระยะยาว เพื่อสร้างผลตอบแทน หรือจ่ายผลประโยชน์ได้ตามที่การันตีไว้กับกรมธรรม์”

 

ดร.สมโพชน์ มองว่า ในมุมส่วนตัวถ้าภาครัฐให้ความสำคัญกับสังคมสูงอายุ และเล็งเห็นว่าประกันบำนาญสามารถดูแลประชาชนและช่วยลดภาระงบประมาณรัฐได้ มองว่าน่าจะสนับสนุนด้วยการออกพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนพิเศษ เป็นการล็อกผลตอบแทนให้บริษัทประกันชีวิตได้มีช่องทางลงทุน โดยเน้นเจาะไปที่แบบประกันบำนาญ ซึ่งเรื่องนี้เคยพูดไปบ้างแล้ว และก็หวังจะได้รับการสนับสนุน เพราะประกันบำนาญถือเป็นแบบประกับที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัยให้ประชาชนมีรายได้ใช้หลังเกษียณ

 

*ล็อกผลตอบแทน

“รัฐอาจวางงบไว้ว่าออกพันธบัตร กำหนดวงเงินไปว่าเท่าไร เป็นพันธบัตรระยะยาว 40 ปี 50 ปีก็ว่าไป โดยล็อกผลตอบแทนไว้อาจสูงกว่าตลาด 1-2% เพื่อให้บริษัทประกันชีวิตที่จะออกผลิตภัณฑ์ประกันบำนาญได้มีช่องลงทุน ซึ่งนอกจากสนับสนุนให้มีการออกประกันบำนาญมากๆ ก็ยังสนับสนุนให้ประชาชนมีความมั่นคงในวัยเกษียณด้วย”

 

โดยแบบประกันบำนาญ ที่ โตเกียวมารีน ประกันชีวิต เสนอขายปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ เช่น ประกันภัย โตเกียว เพอร์เฟกต์ แอนนิวตี 65 รับความคุ้มครองชีวิตตลอดอายุสัญญากรมธรรม์และการันตี บำนาญ 15 งวด เลือกระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัยได้หลากหลาย 5 ปี หรือ 10 ปี สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปคำนวณลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท (เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกรมสรรพากร)

 

แบบประกันแฮปปี้ แอนนิวตี้ 60 ชำระเบี้ยประกันภัย10 ปี,15 ปี หรือเลือกชำระครบอายุ 60 ปี อายุที่รับประกันภัย30 – 50 ปี สำหรับระยะชำระเบี้ยประกันภัย 10 ปี 30– 45 ปี สำหรับระยะชำระเบี้ยประกันภัย 15 ปี 30 – 57 ปี สำหรับระยะชำระเบี้ยประกันภัยจนครบอายุ 60 ปี, แบบประกันโตเกียว ยัง แฮปปี้ แอนนิวตี้ ระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัย,15 ปี หรือเลือกชำระที่ครบอายุ 55, 60, 65 ปีอายุที่รับประกันภัย20 - 59 ปี (ขึ้นอยู่กับแผนประกัน)สิทธิ์การลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท และ แบบประกัน โตเกียว เพอร์เฟกต์ แอนนิวตี้ 60 ชำระเบี้ยประกันภัย 5 ปี และ10 ปี สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปคำนวณลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท

 

ดร.สมโพชน์ เล่าต่อไปว่า ภาพลักษณ์เพื่อสร้างการจดจำในระยะยาวทำให้เลือกเดินในกลยุทธ์ที่ต่าง เพราะในช่วงแรกที่บริษัททำการบุกตลาดใหม่ เรื่องสังคมสูงวัยในไทย เรื่องของประกันบำนาญ (Pension) ยังไม่เป็นที่พูดถึงมาก ขณะที่ตลาดประกันชีวิตก็เน้นไปที่การขายประกันสะสมทรัพย์ ดังนั้นการฉีกตัวเพื่อสร้างความต่างจึงทำให้บริษัทสามารถโฟกัสลูกค้าได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ

 

*ล้างขาดทุนสะสม

แต่ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การทำกลยุทธ์การตลาดที่สร้างความต่างเพื่อขยายฐานลูกค้าหรือสร้างการเติบโตของเบี้ยเท่านั้น ซึ่ง ดร.สมโพชน์ เล่ายัง ความท้าทายยังอยู่ที่การบริหารจัดการ การควบคุมต้นทุน เพื่อท้ายสุดแล้วทำให้บริษัทสามารถกลับมามีกำไรได้

 

“เพราะก่อนที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับ โตเกียวมารีน บริษัทยังคงมีผลขาดทุนสะสม ขณะที่ธุรกิจก็มีการแข่งขันสูงดังนั้นการดำเนินการต่างๆ ผมจึงทำอย่างรัดกุมควบคุมต้นทุนให้เหมาะสมจนเป็นผลให้บริษัทสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ในปีที่ 7 ที่ผมเข้ามาทำงาน โดยเป็นการล้างขาดทุนสะสมได้เร็วกว่าที่ตั้งไว้ด้วย ก็ต้องยอมรับว่าบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็พอใจ”

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง