เคลียร์ชัด! "ร้านอาหารนั่งดื่ม-ดนตรีสด" เปิดได้ ศบค.ย้ำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีไว้คุมโควิด-19
เคลียร์ชัด! “ร้านอาหารนั่งดื่ม-ดนตรีสด” เปิดได้ ศบค.ย้ำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีไว้คุมโควิด-19
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวถึงกรณีข้อสงสัยของประชาชนที่อยากทราบว่า การเปิดกิจการ/กิจกรรมในระยะผ่อนปรนที่ 4 ในส่วนของร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานบันเทิง สามารถทำการเปิดให้บริการได้หรือไม่ และสามารถมีการแสดงดนตรีสดได้หรือไม่ ว่า ในการแถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 การเปิดกิจการ/กิจกรรม ในระยะที่ 4 กำหนดให้งดการเปิดผับ-บาร์-สถานบันเทิง แต่ในส่วนของร้านอาหารที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการจดทะเบียนเป็นร้านอาหาร มีใบอนุญาตในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช่การจดทะเบียนเป็นสถานบันเทิงสามารถเปิดกิจการได้ แต่จะต้องมีการรักษามาตรการการป้องกันและควบคุมโรค ตามที่หน่วยงานราชการกำหนด
“ร้านอาหารที่ไม่ใช่ผับ บาร์ อยู่นอกเหนือจากนี้ ถือว่าสามารถดำเนินการได้ และจะมีข้อกำหนดออกมาภายใน 2 วันนี้ ก่อนการใช้เฟส 4 หากร้านอาหารที่มีการจดทะเบียนเป็นร้านอาหารก็จะจัดเป็นร้านอาหาร ขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการที่จดทะเบียน ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่ ซึ่งเมื่อถูกตรวจสอบก็จะตรวจสอบว่าเป็นประเภทอะไร โดยจะต้องมี 5 มาตรการหลักในการควบคุม บวกกับ 1 มาตรการ คือ การใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ หากตรวจสอบแล้วมีความแออัด หรือ ไม่มีการตั้งจุดล้างมือ จะถูกท้วงติง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในส่วนของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีต่อไป ไม่ได้มีการยกเลิก เพียงแต่เป็นการยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว ที่งดออกนอกเคหสถานในเวลาวิกาล และการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลในการควบคุมผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและจะต้องเข้ากักกันโรคในสถานที่ที่รัฐกำหนด (State Quarantine) ทั้งนี้ การเดินทางภายในประเทศสามารถเดินทางได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดยังคงมีอำนาจในการกำหนดมาตรการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร้านอาหารที่จดทะเบียน และมีการแสดงดนตรีสดสามารถทำได้หรือไม่ โฆษก ศบค. กล่าวว่า หากมีการจดทะเบียนว่าเป็นร้านอาหาร และมีการระบุว่าจะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในส่วนของการแสดงดนตรีนั้น จะต้องดูว่าทำถูกระเบียบหรือไม่ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการจดแจ้งขึ้นทะเบียนกิจการ /กิจกรรม ตรงกับที่ตรวจหรือไม่
“หากมีการจดทะเบียนเป็นร้านอาหาร แต่มีการจัดกิจกรรมคล้ายผับ บาร์ ก็จะโดนข้อกฎหมายอื่น หากมีการแอบเปิด เช่น แรกเริ่มเป็นร้านอาหารที่ไม่มีดนตรี แต่มีการนำดนตรีไปใส่ในภายหลัง ก็อาจจะผิดกฎหมายด้านอื่น ซึ่งจะดูกฎหมายอื่นประกอบด้วย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือระบบป้องกัน โดยระบบป้องกันส่วนบุคคลคือหน้ากากอนามัย และระบบป้องกันของสังคม คือ การใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” โดย คำว่า ป้องกัน และ ควบคุมโรค มีความแตกต่างกันคือ ป้องกันไม่ใช่เชื้อโรคเข้ามา แต่หากเกิดโรคแล้วจะต้องควบคุมให้ทัน ถึงแม้ตัวเลขภายในประเทศจะเป็นศูนย์มาหลายวันแล้ว แต่นักวิชาการระบุว่า เมื่อต้นปี 2563 ช่วงเดือนมกราคม ประเทศไทยมีผู้ป่วย เป็นศูนย์แต่เป็นการป่วยในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศคือ ประเทศจีน เพียงกลุ่มหนึ่ง และเกิดการติดเชื้อ จนในประเทศไทยมีการติดเชื้อถึง 3,129 ราย และมีการติดเชื้อทั่วโลกเป็นหลัก 7 ล้านคน
“ตอนนี้ไม่มีที่ใดปลอดโรค ถึงแม้ประเทศไทยจะมีตัวเลขเป็นศูนย์ถึง 18 วัน แต่ถ้าเราเปิดการเดินทาง หรือ มีคนเดินทางเข้ามา โอกาสติดเชื้อจะสูงมาก ดังนั้นการใช้แอพพ์ฯไทยชนะ จึงมีความสำคัญสูงมาก โดยทางผู้อำนวยการ ศบค.ได้เน้นย้ำเป็นสำคัญมาก ขณะนี้ผู้ใช้งานระบบ IOS ของ Apple สามารถใช้งานได้แล้ว พร้อมดาวน์โหลดเพื่อความสะดวกในการเช็กอิน-เช็กเอ้าท์ และแก้ปัญหาการลืมเช็กเอ้าท์” โฆษก ศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สุดท้ายของฝากว่า จะต้องยึด 6 มาตรการ คือ 1.อยู่ห่างไว้ 2.ใส่แมสกัน 3.หมั่นล้างมือ 4.ถือหลักสะอาด 5.ปราศจากแออัด 6.จัดไปไทยชนะ เพื่อเป็นการป้องกันคนในประเทศไทย และสามารถไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจ หากไม่มีการติดเชื้อ ระบบจะลบข้อมูลไป แต่หากมีการติดเชื้อ ก็จะเป็นเครื่องมือในการติดตามโรคได้อย่างรวดเร็ว