เอกชนผวา! น้ำมันทะลุ 100 เหรียญ - เงินเฟ้อทะยานไตรมาสแรกอาจแตะ 3% วอนรัฐคุมราคาสินค้า-พลังงาน
ข่าววันนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนก.พ. 2565 เปิดเผยว่าสถานการณ์การปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในขณะนี้ โดยเฉพาะในหมวดอาหารสดและพลังงานทยอยปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างมาก อาจส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่จะชะลอการบริโภคลง ประกอบกับประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น สะท้อนผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์
ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงราคาสินค้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้าและบริการในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จนเริ่มส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งในกรณีที่แย่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในไตรมาสแรกของปี 2565 อาจพุ่งสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลกระทบด้านอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว
“ที่ประชุม กกร. จึงคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3-4.5% การส่งออก คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะปรับตัวขึ้นในกรอบ 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้อยู่ที่ 1.2-2% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 3% อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงกว่าที่ประมาณการได้”
นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่า ปี 2565 ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน มีโอกาสส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในหลายมิติ หากสถานการณ์ลุกลามจนส่งผลให้สหรัฐ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย จะกดดันให้การค้าโลก รวมถึงการค้าระหว่างไทยและรัสเซียได้รับผลกระทบ
แต่หากทางรัสเซียตอบโต้ด้วยการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ จะยิ่งกดดันให้อุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตึงตัวมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอันดับที่สองของโลก อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่สูงอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเหล็ก และอลูมิเนียม
ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงเพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นมาก จนกระทบกับผู้บริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนในการตรึงราคาสินค้า ขอให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบที่มีอยู่ เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาออกไปก่อน ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน และขอให้ภาครัฐตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้มภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ