รีเซต

โควิด-19: สถานการณ์โควิด-19 ในไทยรุนแรงแค่ไหน ตัวเลขและสถิติบอกอะไรเราบ้าง

โควิด-19: สถานการณ์โควิด-19 ในไทยรุนแรงแค่ไหน ตัวเลขและสถิติบอกอะไรเราบ้าง
ข่าวสด
4 กรกฎาคม 2564 ( 14:53 )
65

 

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระลอกที่ 3 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้สถานการณ์ยังคงไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายลง

 

 

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ว่าจะต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ภายใน 120 วัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะไปถึงจุดนั้นได้ด้วยการระดมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ครอบคลุม 50% ของประชากร และยืนยันว่ารัฐบาลจะปูพรมฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ 70% ภายในสิ้นปี 2564 ให้สำเร็จ

 

 

นายกฯ ยอมรับว่าการเปิดประเทศนั้นมีความเสี่ยง แต่ "เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง"

 

 

ทว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยที่รัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขต้องควบคุมให้ได้ บวกกับสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดที่กำลังเกิดขึ้น และศักยภาพที่มีอยู่ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า เป้าหมายที่วางไว้จะเป็นจริงได้หรือไม่

 

 

 

บีบีซีไทยประมวลข้อมูลที่สำคัญในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เพื่ออธิบายสถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยกำลังเผชิญอยู่

 

 

 

ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่ม ผู้ป่วยที่รักษาหายน้อยลง

ในช่วงครึ่งแรกของเดือน มิ.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาหายในแต่ละวันมีแนวโน้มสูงกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่แตะระดับอยู่ที่ 2,000-3,000 คนต่อวัน ซึ่งมาจากสามกลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวัง การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน และกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ

 

 

ทว่านับตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. ยอดผู้ติดเชื้อมีรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นจากกว่า 3,000 ราย เป็น 4,000 รายต่อวัน และทำสถิติสูงสุดของเดือนที่ 5,406 ราย เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. และมีแนวโน้มสูงขึ้นจนทำสถิติใหม่อีกครั้งที่ 6,087 รายเมื่อวันที่ 2 ก.ค.

 

 

ที่สำคัญก็คือนับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่าจำนวนผู้รักษาหายแล้วนับตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. เป็นต้นมา

 

 

 

ตัวเลขที่สูงขึ้นควบคู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็คือผู้ป่วยที่มีอาการหนัก บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลของ ศบค. พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,236 ราย เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. เป็น 1,911 รายในวันที่ 30 มิ.ย.

 

 

จำนวนผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามด้วยเช่นกันจากข้อมูล ณ วันที่ 16 มิ.ย. มีผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจจำนวน 364 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 556 รายในวันที่ 30 มิ.ย.

 

 

 

เข้าสู่วิกฤตขาดแคลนเตียง

แนวโน้มผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจที่เพิ่มขึ้นทำให้แพทย์หลายคนแสดงความกังวลถึงศักยภาพและจำนวนเตียงที่จะรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักในเขตพื้นที่ศูนย์กลางการระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ว่าสถานการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นต่อเนื่องมาแล้วกว่า 2 เดือนหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นเกิน 1,000 รายต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยระดับสีแดง หรือกลุ่มที่มีอาการหนักและจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และกลุ่มผู้ป่วยระดับสีเหลืองที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

.....................

 

 

 

ตรวจสอบสถานการณ์เตียงในกทม. - ปริมณฑล

ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ณ วันที่ 25 มิ.ย. ระบุว่าภาพรวมสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มตึงตัวอย่างมาก

 

 

ห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง

  • ห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 295 เตียง ว่าง 38 เตียง
  • หอผู้ป่วยวิกฤตที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 695 เตียง ว่าง 54 เตียง
  • ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 291 เตียง ว่าง 27 เตียง

 

ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง

  • ห้องแยก ครองเตียง 3,475 เตียง ว่าง 458 เตียง
  • ห้องสามัญ ครองเตียง 7,110 ว่าง 1,406 เตียง

 

ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว

  • ฮอสปิเทล (hospitel) ครองเตียง 10,417 ว่าง 3,063 เตียง
  • เตียงสนาม ครองเตียง 2,586 ว่าง 778 เตียง

.......................

 

 

 

ศบค. ยอมรับว่ากังวลกับปัญหาเตียงขาดแคลนแต่ได้สั่งการให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) หาช่องทางและวิธีการขยายศักยภาพด้านสาธารณสุขร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน หรือที่เรียกว่า "เบ่งเตียง" แต่ปัญหาก็ดูเหมือนจะยังไม่มีคลี่คลาย มีรายงานว่าผู้ป่วยโควิดหลายคนยังคงต้องรอเตียงนานหลายวัน

 

 

28 มิ.ย. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. โพสต์เฟซบุ๊ก "Pongsakorn Kwanmuang" ว่าสถานการณ์นี้ได้กลายเป็น "วิกฤตของกรุงเทพฯ" แล้ว พร้อมกับให้ข้อมูลว่าสถานการณ์ครองเตียงในโรงพยาบาลสังกัด กทม.อยู่ที่ 96.06% ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลนอกสังกัดกรุงเทพมหานครก็มีผู้ป่วยเต็มศักยภาพแล้วเช่นกัน

 

 

กทม. จึงวางแผนจัดการวิกฤตดังกล่าวด้วยการ "เบ่งเตียง" โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลืองและแดงให้ได้อีก 526 เตียงภายในวันที่ 10 ก.ค. เพื่อเป็นมาตรการแก้ไขชั่วคราว อย่างไรก็ตาม โฆษกกทม. ยอมรับว่ายังมีผู้ป่วยตกค้างอยู่

 

 

 

ยอดตายทำ "นิวไฮ" ต่อเนื่อง

ผลของการระบาดระลอกที่ 3 นอกจากยอดการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งคือ การทำสถิติใหม่หรือ "นิวไฮ" ของยอดผู้เสียชีวิต

 

 

หลังจากยอดผู้เสียชีวิตต่อวันในการระบาดระลอกที่ 3 ทำสถิติสูงสุดที่ 41 เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ก็มีการทุบสถิติอีกหลายครั้งในเดือน มิ.ย. เช่น ในวันที่ 10 มิ.ย. ที่ยอดตายเพิ่มเป็น 43 ราย ตามมาด้วยในวันที่ 23 มิ.ย.และ 26 มิ.ย. ที่ผลักเพดานสูงขึ้นเป็น 51 ราย ปิดท้ายในสุดท้ายของเดือนมิ.ย. ที่ขยับขึ้นเป็น 53 ราย และเข้าสู่เดือนก.ค. ก็ทำสถิติสูงสุดสองวันติดคือ 57 รายในวันที่ 1 ก.ค. และ 61 รายในวันที่ 2 ก.ค.

 

 

 

 

 

ศบค. อธิบายซ้ำ ๆ ในการแถลงข่าวในแต่ละวันว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ (70%) มาจากกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต หลอดเลือดสมอง โรคปอด โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคตับ เป็นต้น

 

 

 

ศบค. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาการครองเตียงตั้งแต่วันที่ผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อถึงวันที่เสียชีวิตว่าส่วนใหญ่หรือราว 70% รักษาในโรงพยาบาลนานกว่า 7 วัน ส่วนค่าเฉลี่ย ณ วันที่ 30 มิ.ย.อยู่ที่ 11 วัน นานสุดอยู่ที่ 47 วัน

 

 

 

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค อธิบายให้บีบีซีไทยฟังเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ว่าเมื่อจำนวนผู้ป่วยหนักสะสมเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตก็อาจจะสูงตามไปด้วย

ล็อกกทม.-ปริมณฑลหวังกดยอดติดเชื้อ แต่ยอดโผล่ต่างจังหวัด

หนึ่งในความพยายามของ ศบค. ที่ต้องการลดอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อหลังจากหารือกับคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขคือ การประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 25 ภายใต้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19

 

 

 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดฉบับนี้ในเวลาราว 1.30 น. ของวันที่ 27 มิ.ย. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การประกาศให้กรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งหมด 10 จังหวัดเป็น "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ซึ่งการเดินทางข้ามจังหวัดเหล่านี้จะต้องมีการตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวด โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนเดินทางเท่าที่จำเป็น

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดเจาะจงพิเศษให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลปิดไซต์งานก่อสร้าง ที่พักชั่วคราวของคนงาน และห้ามเคลื่อนย้ายคนงานเป็นเวลา 30 วัน เนื่องจากที่ผ่านมามีการระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีคำสั่งห้ามการนั่งรับประทานอาหารในร้าน จำกัดเวลาเปิดบริการของศูนย์การค้า และห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเกิน 20 คน

 

 

 

ข้อกำหนดฉบับนี้ได้สร้างกระแสความไม่พอใจในกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ เพราะระยะเวลาในการตระเตรียมตัวน้อยไป ขณะที่มีรายงานว่าคนงานก่อสร้างอาศัยช่วงสุดสัปดาห์ก่อนที่ข้อกำหนดจะมีผลบังคับใช้เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด

ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการรายงานของ ศบค. ในวันที่ 28 มิ.ย. ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างจังหวัดอาจจะบ่งชี้ให้เห็นผลของการประกาศดังกล่าวด้วยยอดผู้ติดเชื้อพุ่งอย่างมีนัยสำคัญเพียงวันเดียว 2,481 ราย ใกล้เคียงกับยอดรวมของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ 2,898 ราย ก่อนจะปรับลงมาในระดับเดียวกันกับระดับก่อนมีประกาศฉบับดังกล่าวในช่วงวันที่ 29-30 มิ.ย. แต่ตัวเลขกลับเพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดตั้งแต่วันที่ 1- 3 ก.ค. เป็นตัวเลขมากกว่า 2,000 คน

 

 

 

สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) รุกคืบ

มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ การเปิดเมือง และประสิทธิผลของวัคซีนที่รัฐบาลวางกำหนดไว้กลายเป็นประเด็นที่สังคมถกเถียงว่าเหมาะสมหรือไม่

 

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาเริ่มจับตาพัฒนาการของไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่กลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศ เช่น ในอินเดีย สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

 

 

 

ด้วยลักษณะเฉพาะที่แตกต่างของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา คือ แพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษกว่า 40% จึงทำให้นักไวรัสวิทยาต่างจับตาและเฝ้าระวังสายพันธุ์นี้อย่างใกล้ชิด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่าในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ล่าสุดก็พบกว่าสายพันธุ์เดลตาสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดได้เพิ่มขึ้นด้วย

นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยในวันที่ 28 มิ.ย. ว่า หากดูเฉพาะสัปดาห์สุดท้าย (21-27 มิ.ย.) พบว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาในกรุงเทพฯ มีสัดส่วน 32.29% ส่วนในภูมิภาค 7.34% ของสายพันธุ์ทั้งหมด

 

 

 

คำถามที่ตามมาคือประสิทธิภาพของวัคซีนหลักที่มีอยู่อย่างวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคจะสามารถต่อกรกับสายพันธุ์เดลตาได้หรือไม่ เมื่อยังไม่มีการทดลองในประเทศบ่งชี้ว่า ประสิทธิผลของวัคซีนต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ เป็นอย่างไร

 

 

 

อัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำกว่าค่าขั้นต่ำที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย

ความท้าท้ายมากที่สุดของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คือ การพิชิตเป้าหมายฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งแบ่ง เป็นสองช่วงคือ 120 วันแรกก่อนเปิดประเทศตามที่นายกฯ แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. โดยประกาศว่าคนไทยต้องได้รับวัคซีนเข็มแรกให้ได้ 50% ของประชากรเป้าหมาย และช่วงต่อไปคือทำให้คนไทย 70% หรือราว 50 ล้านคนได้รับวัคซีนครบสองเข็มภายในสิ้นปี 2564

BBC

จากการคำนวณดังกล่าว จะพบว่าอัตราการฉีดต่อวันของรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขยังต่ำกว่าอัตราที่ควรจะเป็น หากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าภายในระยะเวลา 120 วันสำหรับโดสแรก ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงกลางเดือน ต.ค. หรือการฉีดให้ครบโดสภายในสิ้นปี ก็ยังถือว่าล่าช้ากว่าและต่ำกว่าเกณฑ์ที่คาดว่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้

 

 

ยอดการฉีดตลอดเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สามารถทำได้ 6.33 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มแรก 4.59 ล้านโดส และเข็มที่สอง 1.74 ล้านโดส ซึ่งไกลจากเป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยลั่นวาจาไว้เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2563 ที่ต้องการให้ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% หรือคิดเป็นประชากร 50 ล้านคน โดยต้องใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี

 

 

 

"...ตั้งเป้าว่าต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อเอาชนะสงครามกับโควิดในครั้งนี้ให้ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนในเดือน ก.ค. นี้ ศบค. เตรียมแผนการกระจายวัคซีนไว้ที่ 10.3 ล้านโดส โดยจัดลำดับตามความความรุนแรงของการระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นหลัก

 

 

ทว่า ในวงเสวนาในหัวข้อ "วัคซีนโควิดไทยจะเดินหน้าต่ออย่างไร" เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกมายอมรับว่า ในเดือนก.ค. ทางแอสตร้าเซนเนก้าจะไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามจำนวนที่วางแผนไว้ 10 ล้านโดส โดยคาดว่าน่าจะส่งมอบได้เพียงเดือนละ 5-6 ล้านโดสเท่านั้น

ปัญหาคือ ไม่มีวัคซีนให้ฉีด

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอจะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกกับบีบีซีไทยว่า เป้าหมายการฉีดให้ได้วันละ 500,000 โดสต่อวัน และให้ได้ 15 ล้านโดสต่อเดือน ตามศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์เป็นไปได้ แต่ขณะนี้มีวัคซีนให้ฉีดไม่ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือน

 

 

"ปัญหาไม่ใช่ความสามารถในการฉีด แต่ปัญหาคือ ไม่มีวัคซีนให้ฉีด" ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวย้ำ

เขาแนะนำว่า การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด คือ ต้นทุนที่ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพในการจัดการการระบาดได้เร็วที่สุด ในขณะเดียวกันการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและเลือกที่มีประสิทธิภาพสูง ก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการ ดังนั้น ชมรมแพทย์ชนบทจึงเสนอให้รัฐบาลอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 18(2) ที่ระบุว่า รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจ "กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งต้องเหมาะสมกับสัดส่วนการใช้วัคซีนภายในประเทศ" ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดย บ.สยามไบโอไซเอนซ์ได้ เพื่อให้ไทยมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดในประเทศได้ตามเป้าหมาย

 

 

ตัวเลข สถิติและเสียงสะท้อนจากบุคลากรการแพทย์ที่เผชิญปัญหาหน้างานบ่งบอกว่าประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง จนบางคนเริ่มเตือนถึงความล่มสลายของระบบสาธารณสุข ขณะที่คำถามเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ ว่ารัฐบาลจะรับมือกับวิกฤตนี้อย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง