เกษตรกร ชี้ราคาหมูขยับขึ้นตามกลไกตลาด ขอผู้บริโภคเข้าใจ
วันนี้ ( 19 ก.ย.63) นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 จากกิโลกรัมละ 67 – 68 บาท เป็นกิโลกรัมละ 81 – 82 บาท ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นสูงกว่ากิโลกรัมละ 170 บาท กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคที่ยังอยู่ในช่วงเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19
ล่าสุดกรมการค้าภายในได้นัดประชุมหารือกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมหมู และขอตรึงราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่จำหน่าย ในประเทศไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตกิโลกรัมละ 71.55 บาท เพื่อให้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรอยู่ที่ไม่เกินกิโลกรัมละ 160 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ และไม่กระทบต่อผู้บริโภคมาก ด้านโรงเชือดชำแหละ ช่วยตรึงราคาขายส่งไว้เช่นกัน เพื่อให้ผู้ค้าปลายทาง ในตลาดสด และห้างสามารถขายปลีกเนื้อสุกร (สะโพกและไหล่) ที่กิโลกรัมละ 150 บาท และสันนอก กิโลกรัมละ 160 บาท
ด้านนายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยถึง ตามที่ให้สัญญากับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไว้ว่าจะร่วมกันดูแลพี่น้องประชาชนไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนสุกร และไม่ให้ราคาสูงจนกระทบค่าครองชีพประชาชน โดยเห็นว่าระดับราคาดังกล่าวถือว่าเกษตรกรพอมีรายได้แค่กลับมาต่อทุนเพื่อเลี้ยงสุกรในรุ่นถัดไปเท่านั้น เพราะต้นทุนการเลี้ยงสุกรยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต่างปรับตัวขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่ม ที่สำคัญเกษตรกรทั้งประเทศยังต้องต่อสู้กับโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ทำให้มีต้นทุนการป้องกันและเฝ้าระวังโรคเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“หมูไทยราคาไม่ได้สูงไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องรับมือกับโรค ASF ที่ระบาดอย่างหนักอย่างจีน เวียดนาม เมียนมา ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากการขาดแคลนหมูอย่างหนัก เพราะภาวะโรค ช่วงนี้ที่ราคาหมูขยับขึ้นตามกลไกตลาด ขอให้ประชาชนเข้าใจและเห็นใจเกษตรกรที่ต้องเผชิญปัญหาราคาหมูตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาดนานกว่า 3 ปี หากเห็นว่าหมูราคาสูงทุกท่านยังมีทางเลือกรับประทานโปรตีนอื่นๆ ทดแทนได้ ทั้งปลา ไข่ ไก่ แต่พวกเรามีอาชีพเลี้ยงหมูอาชีพเดียวเท่านั้น ขอให้กลไกตลาดได้ทำงาน หากถูกควบคุมมากจนเกินไปเกษตรกรอาจไม่สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้” นายสุนทราภรณ์ กล่าว
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE