รีเซต

“ยกเลิกทัวร์ 2 ชั้น” สกัดอุบัติเหตุซ้ำซาก

“ยกเลิกทัวร์ 2 ชั้น” สกัดอุบัติเหตุซ้ำซาก
TNN ช่อง16
6 ธันวาคม 2566 ( 19:36 )
152
“ยกเลิกทัวร์ 2 ชั้น” สกัดอุบัติเหตุซ้ำซาก


“ยกเลิกทัวร์ 2 ชั้น” ทำได้หรือไม่? 


จากกรณีอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารประจำทางสองชั้น (รถร่วมบริการบริษัท ขนส่ง จำกัด) สายกรุงเทพ - นาทวี ของบริษัท ศรีสยามเดินรถเสียหลักพุ่งชนต้นไม้ข้างทาง บริเวณริมถนนเพชรเกษม ช่วงหลัก กม.331 ในพื้นที่ ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเช้ามืดวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ส่งผลให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตรวม 14 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมากนั้น 


นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค  กล่าวว่า จากข้อมูลในที่เกิดเหตุเบื้องต้น สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงและสภาพร่างกายของผู้ขับรถที่อาจจะมีอาการหลับในหรือมีอาการวูบจนทำให้รถโดยสารเสียหลักและมีผู้เสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก 


อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ คือเรื่อง “สภาพรถ”  ที่ต้องดูว่าพร้อมนำมาใช้งานหรือไม่และภายในรถมี “เข็มขัดนิรภัย” ให้ผู้โดยสารหรือไม่ มีการตรวจสภาพครั้งล่าสุดเมื่อใด ซึ่งอุบัติเหตุในลักษณะนี้มักเกิดจากสาเหตุซ้ำซากที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

นายคงศักดิ์  กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และทบทวนมาตรการความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะให้กับผู้บริโภคโดยทันที โดยเฉพาะมาตรการกำกับคุณภาพคนขับรถโดยสารทุกประเภท โดยเฉพาะรถโดยสารสองชั้น  ที่ต้องมีทักษะความชำนาญ และความปลอดภัยสูงกว่าปกติ และต้องประกาศให้สิทธิของผู้โดยสารที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในครั้งนี้ได้รับความคุ้มครอง ไม่ถูกละเมิดสิทธิซ้ำซ้อน


“อยากให้ทบทวนมาตรฐานความปลอดภัยของ “โครงสร้างรถโดยสารสองชั้น” ที่มีอยู่ในปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมต่อการให้บริการและความปลอดภัยของผู้บริโภคหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังมีรถโดยสาร 2 ชั้นวิ่งให้บริการอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ โดยที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือตรวจสอบได้เลยว่ารถโดยสารสองชั้น คันดังกล่าวมีอายุการใช้งานมาแล้วกี่ปี ผ่านการตรวจสภาพรถประจำปีเมื่อไหร่ มีประกันภาคบังคับ – ภาคสมัครใจ และผ่านการทดสอบความลาดเอียงมาแล้วหรือไม่อย่างไร”



7 ปีก่อน เคยเสนอ “ยกเลิกทัวร์ 2 ชั้น” 


ย้อนไปเมื่อปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมดูแลเรื่องรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะกรณีของรถโดยสารสาธารณะสองชั้น เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง โดยพบปัญหาส่วนใหญ่มาจากโครงสร้างของรถ กับ พื้นถนนที่มีความโค้งและลาดเอียง 


จากข้อมูลจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ยังมีรถโดยสารสองชั้น หรือ รถมาตรฐาน 4 จดทะเบียนอยู่ทั้งหมด 6,776 คัน แบ่งเป็นกลุ่มรถโดยสารประจำทาง 1,508 คัน และกลุ่มรถโดยสารไม่ประจำทาง (เช่าเหมารถทัศนาจร – ทัศนศึกษา) 5,197 คัน 


แม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะมีคำสั่งยกเลิกจดทะเบียนรถโดยสารสองชั้นตั้งแต่ปี 2559 จากสาเหตุความไม่เหมาะในการใช้โดยสารในเส้นทางเสี่ยงลาดชัน ซึ่งรถโดยสารสองชั้นจะมีความเสี่ยงที่จุดศูนย์ถ่วงของรถ มีโอกาสพลิกคว่ำได้ง่าย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง 6 เท่า



ข้อมูลพบ 1 ปี อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ 142 คัน 


ข้อมูลจาก รายงานวิเคราะห์อุบัติเหตุสาธารณะ กรมการขนส่งทางบก ในปี 2565 มีรถโดยสารสาธารณะที่เกิดเหตุทั้งหมดจำนวน 142 คัน  


รถโดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดได้แก่ 


1. รถโดยสารชั้นเดียว คิดเป็นร้อยละ 42.25 (60 คัน) 

2. รถโดยสารสองชั้น คิดเป็นร้อยละ 22.53 ( 32 คัน) 

3. รถตู้โดยสาร คิดเป็นร้อยละ 21.83 ( 31 คัน) 

4. รถโดยสารสองแถว คิดเป็นร้อยละ 9.15 (13 คัน)

5. รถมินิบัสเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุดคิดเป็นร้อยละ 4.24 (6 คัน)



สถิติการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า ขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพมหานครไปยังส่วนภูมิภาค มีการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 


จากข้อมูลของกรมการขรส่งทางยก การเกิดอุบัติเหตุมากกว่าครึ่งหนึ่งนั้น เกิดจาก รถโดยสารสาธารณะ และเมื่อวิเคราะห์ร่วมกับ สาเหตุ การเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ พบว่า ลำดับที่หนึ่ง คือความประมาท ซึ่งนับเป็น ความบกพร่อง ของผู้ขับรถ 


ดังนั้น เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุอันเกิดจากข้อจำกัดของมนุษย์ การเพิ่มศักยภาพและพัฒนามาตรฐานของผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ จึงเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาประกอบกับการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการกำกับควบคุมผู้ขับ เช่น การติดตั้งระบบ GPS เพื่อให้ผู้ขับขี่ควบคุมความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด 


นอกจากนี้การเดินทางในระยะไกลเกิน 300 กิโลเมตร ต้องมีคนขับ 2 คนและผู้ขับแต่ละคน สามารถขับรถติดต่อกันได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง และต้องหยุดพักไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง เพื่อเป็นการควบคุมและส่งเสริมความปลอดภัยผ่านการลดข้อจำกัดของมนุษย์ 



ย้อนรอย “อุบัติเหตุใหญ่” คร่าหลายชีวิต  


20 พ.ย. 60 

อุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารกรุงเทพฯ-เขาค้อ ลงเขาหลุดโค้งพลิกคว่ำที่ อ.นครไทย จ. พิษณุโลก มีผู้บาดเจ็บ 9 เสียชีวิต 1 ราย 


21 ม.ค. 61 

อุบัติเหตุรถทัวร์สายภูเก็ต-อุบลฯ ตกถนนพลิกคว่ำ โชคดีไม่มีผู้เสียชีวิต  มีผู้บาดเจ็บ 19 ราย 


22 ม.ค.61 

เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารระบบเบรกไม่ทำงาน  ตกเนินสูง หน้าวัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ประมาณ 5 เมตร ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 คน 


22 มี.ค. 61

อุบัติเหตุรถทัวร์พลิกคว่ำ ที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา มีผู้เสียชีวิต 18  ราย 


9 มิ.ย.62 

อุบัติเหตุรถทัวร์ไม่ประจำทาง วิ่งเสริมจากยะลาเข้ากรุงเทพมหานคร เกิดหลับในเสียหลักรถพุ่งลงร่องกลางถนนที่จังหวัดชุมพร ผู้โดยสารมากับรถขาขาดบาดเจ็บสาหัส 3 คน เจ็บเล็กน้อยรวม 19 คน


14 ม.ค. 65 

อุบัติเหตุ รถทัวร์เสียหลัก ตกลงร่องกลางถนน บริเวณถนนนครสวรรค์-เชียงราย หน้าไปรษณีย์แม่กา จ.พะเยา ผู้โดยสารเจ็บหลายราย 


13 มี.ค.65 

เกิดเหตุรถทัวร์ชนตอม่อใต้สะพานต่างระดับ จ.สระบุรี มีผู้เสียชีวิต 8 ราย 


8 ก.ค. 65 

เกิดอุบัติเหตุ รถทัวร์พานักเรียนไปชมภาพยนตร์สารคดีสัตว์โลกดึกดำบรรพ์ เรื่องจูราลสิค เวิลด์ ตกไหล่ทาง พลิกคว่ำ ทำให้นักเรียนบาดเจ็บหลายราย






แนวป้องกัน และลดอุบัติเหตุ จากรถโดยสารสาธารณะ 


อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดตากรถโดยสารสาธารณะ นับเป็นความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์ของประชาชนจำนวนมาก  ดังนั้นควรติดตามกำกับผู้ประกอบการอย่างเข้มงวด กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยให้ชัดเจน รวมทั้งการตรวจสอบเส้นทางการเดินรถ สภาพตัวรถ ตรวจสอบการใช้สารเสพติดในผู้ขับ เช็กความชำนาญเส้นทาง  ที่สำคัญควรติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกจุด และบังคับผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ก่อนออกเดินทาง 


กรมการขนส่งทางบกได้สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะไว้ดังนี้ 


1. พัฒนาการกระบวนการออกใบอนุญาติขับรถโดยสารสาธารณะ 

2. ควบคุม ติดตาม ตรวจสอบ และกวดขัน ผู้ประกอบการขนส่งสาธาระให้ปฎิบัติตามเงื่อนไข

3. เพิ่มประสิทธิภาพจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงการพัฒนาระบบ GPS ควบคุมความเร็วรถ 

4. นำระบบตัดคะแนนใบขับขี่ มาใช้อย่างจริงจัง

5. เพิ่มมารตรการสุ่มตรวจ ทั้งสภาพรถ และพนักงาน 

6. ใช้ข้อมูลจากสถิติ มากำหนดนโยบาย และมาตรการการควบคุม 

7. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรณรงค์ด้านความปลอดภัย อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ  กรมทางหลวง  ผู้ประกอบการขนส่ง เป็นต้น




---------------------------------

ภาพ TNNOnline  

ข้อมูล : กรมการขนส่งทางบก / สภาผู้บริโภค 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง