เปิดสถิติความสูญเสียรถโดยสารสาธารณะ เสียชีวิตปีละ 16 คน เจ็บปีละเกือบ 3,000 คน แนะวิธีและข้อปฏิบัติความปลอดภัย
เพจเฟซบุ๊ก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ข้อมูล สถิติความสูญเสียรถโดยสารสาธารณะ 9 ปี ตั้งแต่ 2558-2566
เสียชีวิต 146 ราย หรือ เฉลี่ย 16 ราย / ปี
พักรักษาตัวในโรงพยาบาล (IPD) 2,720 คน หรือ เฉลี่ย 302 คน / ปี
ผู้บาดเจ็บที่เป็นผู้ป่วยนอก (OPD) 26,699 คน หรือ เฉลี่ย 2967 / ปี
และเพื่อการเดินทางที่ปลอดภัย กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค แนะวิธีเช่าเหมารถโดยสารไม่ประจำทาง เพื่อการเดินทางศึกษาดูงานและทัศนศึกษา ดังนี้
การคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งและพนักงานขับรถ
- เลือกบริษัทที่เป็นนิติบุคคล ทำประกันภับภาคบังคับและภาคสมัครใจ ผ่านการตรวจสอบสภาพรถและต่อภาษี
- เลือกใช้รถแบบชั้นเดียว ไม่ควรใช้รถแบบ 2 ชั้น โดยเฉพาะทางภูเขาลาดชัน
- ควรมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งและใช้การได้
- เบาะที่นั่งยึดติดตั้งแข็งแรง ไม่ควรเลือกรถที่มีการดัดแปลงที่นั่ง เพื่อให้ได้ที่นั่งมากขึ้น
- มีอุปกรณ์นิรภัยติดตั้งบนรถ เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง เป็นต้น
- ต้องไม่บรรทุกจำนวนผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง
- พนักงานขับรถมีใบอนุญาตขับขี่ประเภท 2 สามารถขับรถส่วนบุคคลหรือรถสาธารณะได้
พร้อมแนะข้อปฏิบัติทั้งก่อนเดินทาง และระหว่างเดินทาง ดังนี้
ก่อนการการเดินทาง :
- คณะเดินทางต้องศึกษาเส้นทางและวางแผนการเดินทาง โดยเลือกเส้นทางที่ปลอดภัย และเลือกเดินทางในตอนกลางวัน
- ซักซ้อมความปลอดภัยก่อนเดินทาง ตรวจสอบทางเข้าออกและประตูฉุกเฉินต้องใช้งานได้สมบูรณ์
- พิจารณาอากัปกิริยาของพนักงานขับรถก่อนออกเดินทาง ไม่ดื่มสุรา พักผ่อนเพียงพอ
ระหว่างเดินทาง :
- ต้องกำกับไม่ให้พนักงานขับรถขับเร็ว ไม่ตัดหน้ากระชั้นชิด และแซงรถคันอื่นอย่างผิดกฎหมาย
- ต้องสังเกตกิริยาอาการของพนักงานขับรถว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมขับขี่
- ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา ไม่ควรลุกนั่งโดยไม่จำเป็น ไม่ชักชวนคนขับคุยให้เสียสมาธิ
ข้อมูล : กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข